ทำต้องลงทุนอย่างเป็นระบบ? … คำตอบของนักลงทุนส่วนใหญ่ก็คือ
“เพราะมันช่วยป้องกันไม่ให้เราตัดสินใจด้วยอารมณ์ในการลงทุน และทำให้ชีวิตสะดวกสะบายและง่ายขึ้นยังไงล่ะ”
แน่นอนว่ามันถูกต้องครับ! อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่านี่เป็นคำตอบแบบ Fast Food ที่ตื้นเขินเอามากๆ เพราะถ้าประโยชน์ของมันมีแค่นี้จริงๆล่ะก็ บรรดานักลงทุนและกองทุนทั่วโลกก็คงไม่พยายามทุ่มเททรัพยากรต่างๆ เพื่อยกระดับกองทุนของพวกเขาสู่ความเป็นกองทุนเชิง Quant กันอย่างแน่นอน!
ในวันนี้ผมจึงอยากที่จะมาเล่าถึงประโยชน์ของการลงทุนอย่างเป็นระบบในมุมอื่นๆที่ละเอียดขึ้นอีกสักหน่อย ให้พวกเราได้เข้าใจถึงข้อดีและศักยภาพของมันกันเพิ่มเติม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักลงทุนหลายๆคนให้เห็นถึงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ของมันกันครับ 😀
หมายเหตุเพื่อความเข้าใจ : ไม่ว่าจะเป็น Algo, AI, Machine Learning ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันทุกวันนี้ ทุกอย่างนั้นถือเป็น Subset อยู่ใต้ขอบเขตของการลงทุนอย่างเป็นระบบที่เรียกว่า Quantitative & Systematic Trading/Investing กันทั้งสิ้นครับ
การลงทุนอย่างเป็นระบบคืออะไร?
ก่อนอื่นนั้น ผมจะขอนิยามกันให้ชัดเจนก่อนว่าการลงทุนอย่างเป็นระบบคืออะไร (Quantitative & Systematic Trading/Investing) เพื่อให้พวกเราได้เข้าใจตรงกันก่อนนะครับ โดยที่ความหมายของมันในภาษาที่เข้าใจง่ายสุดๆก็คือ
“การลงทุนตามกฎหรือวิธีการ ซึ่งได้ถูกวิจัยและพิสูจน์ออกมาแล้วว่ามีประสิทธิภาพและโอกาสสูงที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการลงทุนในระยะยาว โดยมีขั้นตอนที่ชัดเจนและครอบคลุมในแต่ละองค์ประกอบของการลงทุนอย่างครบถ้วน จนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิจารณญาณในการลงทุนเพิ่มเติมใดๆระหว่างการลงทุนอีกต่อไป และยังคงให้ผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างกันแม้ถูกนำไปใช้โดยบุคคลอื่นๆ”
ดังนั้นแล้ว หากว่าคุณยังไม่เคยที่จะวิจัยทดสอบจนมีหลักฐานยืนยันว่ามันมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนในระยะยาวจริงๆ หรือยังคงมีการใช้ประสบการณ์หรือวิจารณญาณเข้ามาประกอบในการตัดสินใจต่างๆ เช่นบอกว่าลงทุนอย่างเป็นระบบโดยใช้ Algo, AI หรือ Machine Learning แต่มานั่งดูกราฟหรือดูงบประกอบอยู่ตลอด หรือไม่สามารถที่จะอธิบายหรือส่งต่อระบบให้คนอื่นๆ สามารถนำไปใช้ปฎิบัติแทนคุณได้โดยไม่เกิดความแตกต่าง นั่นก็จะแปลว่าคุณยังไม่ได้ลงทุนอย่างเป็นระบบจริงๆ หรือคุณอาจแค่เพียงคิดไปเอง (มโน) ว่าคุณลงทุนอย่างเป็นระบบเท่านั้น
ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้ว คุณก็อาจจะไม่ได้รับประโยชน์ต่างๆอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากปรัชญาของการลงทุนอย่างเป็นระบบจริงๆ (และมักทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการลงทุนอย่างเป็นระบบไม่เวิรค์อีกด้วย) ซึ่งก็เป็นที่มาของบทความนี้ว่าทำไมผมจึงอยากเล่าประโยชน์ในมุมอื่นๆของมันมากกว่าที่นักลงทุนทั่วไปเข้าใจกันนั่นเองครับ
ว่าแล้วก็ไปเริ่มพูดถึงประโยชน์แท้จริงที่แฝงอยู่ของการลงทุนอย่างเป็นระบบกันเลยดีกว่าครับ!
1. ความเป็นเหตุเป็นผล มีตรรกะ และกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการลงทุน (Scientific Thinking)
ประโยชน์อย่างแรกเลยก็คือการลงทุนอย่างเป็นระบบนั้น เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมีเหตุมีผล มีตรรกะ และกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการลงทุนนั่นเอง ซึ่งแม้ว่าจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่น่าจะเดากันได้อยู่แล้ว แต่ผมอยากให้คุณได้ “คิด” ให้ลึกลงไปกว่าเดิมอีกสักนิดครับ
นั่นก็เพราะก่อนที่คุณจะลงทุนอย่างเป็นระบบได้นั้น แน่นอนว่าคุณจะต้องมีระบบการลงทุนก่อนจริงไหมครับ ซึ่งก่อนที่คุณจะมีระบบการลงทุนได้คุณก็จะต้องทดสอบมัน และก่อนจะทดสอบมันได้ คุณก็จะต้องมีกฎและขั้นตอนในการลงทุนที่ชัดเจนขึ้นมาเสียก่อน และก่อนที่คุณจะมีขั้นตอนที่ชัดเจนเสียก่อน คุณก็จะต้องรู้จักการวิเคราะห์ุถึงปัญหา, ตั้งข้อสงสัย, ตั้งสมติฐาน และวางแผนออกแบบกระบวนการแก้ปัญหาต่างๆอย่างชัดเจน ซึ่งนั่นก็คือกระบวนการ “คิด” อย่างเป็น “วิทยาศาสตร์” นั่นเองครับ!
ซึ่งรอยหยักในสมองที่จะค่อยๆถูกพัฒนาขึ้นจากการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์นี้เอง (Scientific Thinking) ที่ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนสาย Quant จึงเป็นที่ยำเกรงและเป็นที่ต้องการอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาสามารถที่จะค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงทำลายขีดจำกัดในการลงทุนต่างๆขึ้นมาได้จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ดังที่ Jim Simon ผู้ก่อตั้งสุดยอดกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Reineisance Technology ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า
“สิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความได้เปรียบในเกมนี้ ไม่ใช่เรื่องของคณิตศาสตร์หรือขีดความสามารถทางคอมพิวเตอร์สักเท่าไหร่ แต่มันคือทักษะที่จะคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ต่างหาก”
Jim Simons
2. ความชัดเจน เที่ยงตรง และแม่นยำ จากการทำสิ่งต่างๆให้เป็นตัวเลขและเงื่อนไขที่ชัดเจนอยู่เสมอ (Quantitative Method)
ประโยชน์อย่างที่สองของการลงทุนอย่างเป็นระบบ คือสิ่งที่เราจะได้รับจากการแปลงสิ่งต่างๆให้เป็นตัวเลข ซึ่งจะทำให้เราสามารถคำนวณ, ชี้วัด และเปรียบเทียบสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในการลงทุนได้อย่างชัดเจน เที่ยงตรง และแม่นยำ ซึ่งจะช่วยลดข้อผิดพลาดในการตัดสินใจต่างๆได้อย่างมหาศาลครับ
นั่นก็เพราะเมื่อเราได้ตั้งสมมติฐานตามความคิดของเราขึ้นมานั้น หากว่าเราต้องการที่จะทำการทดสอบมัน เราจะต้องแปลงทุกอย่างให้เป็นตัวเลขและเงื่อนไขเชิงตรรกศาสตร์เสียก่อน เพื่อให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถนำไปประมวลผลได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความชัดเจนในความคิดของเราขึ้นเป็นอย่างมาก!
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราบอกว่าเราอยากหลีกเลี่ยงหุ้นปั่น มันไม่ใช่แค่คุณจะบอกกับคอมพิวเตอร์ว่าไม่เอาหุ้นปั่นนะครับ! แต่คุณจะต้องกำหนดนิยามของหุ้นปั่นให้เป็นเงื่อนไขและตัวเลขอย่างชัดเจน เช่นว่าหุ้นต้องมีกำไรในไตรมาศปัจจุบันที่เป็นค่าลบ มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เป็นบวกเกินกว่า X% อย่างรวดเร็วภายใน Y วัน และยังมีเงื่อนไข X,Y,Z อื่นๆเท่าที่คุณจะคิดได้เข้าไปด้วย
ซึ่งการแปลงทุกอย่างให้เป็นสูตรเหล่านี้นั้น จะช่วยทุ่นแรงในการต้องเผชิญกับข้อมูลที่มากมายในแต่ละวัน และช่วยลดข้อผิดพลาดให้คุณได้เป็นอย่างดี เนื่องจากคุณจะไม่จำเป็นต้องมานั่งคอยมองกราฟที่ยั่งเหยิงหรืออ่านงบหุ้นทีละตัวๆให้ลายตาอีกต่อไป สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่กำหนดเงื่อนไขให้โปรแกรมค้นหาหรือทำสิ่งต่างๆที่คุณต้องการตามสูตรของคุณออกมาเท่านั้นครับ
นอกจากนั้นแล้ว การแปลงสิ่งต่างๆให้เป็นตัวเลขนั้น ยังช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบและความสัมพันธ์ต่างๆของข้อมูลจนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆที่อาจยังไม่มีใครเคยพบเจอ หรือนำเอาตัวแปร, ตัวเลข และสูตรต่างๆไปทำการทดสอบเพื่อหาแนวคิดที่ให้ผลลัพธ์ในการลงทุนที่ดีที่สุดต่อไปนั่นเองครับ
3. การลงทุนตามข้อเท็จจริงทางสถิติ ที่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ (Evidence Based Investing)
ความสามารถที่เราจะสามารถพิสูจน์สิ่งต่างๆได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (Verifiable) และนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาเป็นแนวทางในการลงทุนจริงๆนั้น (Evidence Based Investing) คือประโยชน์ข้อที่สามของการลงทุนอย่างเป็นระบบครับ
โดยหลังจากที่คุณได้คิดและทำสิ่งต่างๆให้เป็นตัวเลขและเงื่อนไขที่ชัดเจนจนสามารถนำมาทดสอบเพื่อหาความจริงต่างๆได้แล้วนั้น ประตูแห่งองค์ความรู้แบบ “มือหนึ่ง” (First Hand Knowledge) ก็จะเปิดออกมา จนเราจะสามารถทำการลงทุนได้โดยไม่ต้องใช้เพียง “ความเชื่อ” อีกต่อไป! (เชื่อผมเถอะครับว่าถ้าเอาแนวคิดการลงทุนในหนังสือหรืองานสัมมนาต่างๆมาทดสอบ มันจะเหลือที่ใช้ได้แค่หยิบมือเดียว เพราะผมลองมาเยอะแล้ว :D)
ณ จุดนี้นั้น อาจารย์ที่แท้จริงของคุณจะกลายเป็น “ข้อเท็จจริง” ที่คุณได้จากการทดสอบวิจัยของคุณเอง!
คุณจะไม่จำเป็นต้องฟังหรือเชื่อบรรดากูรูต่างๆไปตามความศรัทธา ทั้งที่คุณก็ไม่รู้ว่าวิธีการหรือแนวคิดต่างๆที่เค้าได้สอนและเล่าให้เราฟังนั้นใช้ได้จริงหรือไม่ (เค้าอาจจะฟลุคก็เป็นไปได้) มิหนำซ้ำคุณยังสามารถรู้ลึกไปอีกได้ว่า หากมันใช้ได้จริงๆแล้ว มันจะใช้ได้ดีแค่ไหน ในสภาวะอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขอะไรต่างๆบ้างอย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณไม่มีทางที่จะหาได้จากการฟังๆเขามา, เข้าคอร์สเล่นหุ้น หรืออ่านจากหนังสือเพียงอย่างเดียว
โดยหลังจากที่คุณได้ค้นพบกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการวิจัยของคุณแล้ว คุณก็สามารถที่จะนำมันไปสร้างและใช้เป็นกลยุทธ์หรือระบบการลงทุนที่เหมาะกับระดับความเสี่ยง ความเชื่อ และจริตของคุณได้อย่างเหมาะสม และยังสามารถช่วยให้คุณสามารถตรวจสอบและเปรียบเทียบผลการลงทุนในระหว่างการลงทุนได้อย่างชัดเจนและเป็นวิทยาศาสตร์กันอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว องค์ความรู้เชิงลึกที่ได้มาจากการทดสอบของคุณเองนั้น ก็ยังจะช่วยส่งเสริมในแง่ของจิตวิทยาและวินัยในการลงทุนของคุณได้เป็นอย่างดี เนื่องจากคุณได้เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งแล้วว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่คุณควรจะทำเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลงทุนของคุณอย่างแท้จริงนั่นเองครับ (คือถ้าเคยทดสอบมาแล้วว่ามันแย่ คุณจะไม่อยากทำมันอีกโดยอัตโนมัติครับ)
4. กระบวนการลงทุนที่เป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน และเป็นรูปธรรม (Objective Systematic Process)
หลังจากที่เราได้ทำการพิสูจน์ถึงสิ่งต่างๆได้จนทะลุปรุโปร่งจนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว เราก็จะสามารถนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาทำการวางแผน “ล่วงหน้า” เป็นขั้นเป็นตอนได้อย่างเป็นรูปธรรม จนสามารถทำซ้ำ “อย่างเป็นระบบ” ได้อย่างสม่ำเสมอ
โดยที่ประโยชน์ของความเป็นรูปธรรมนั้น (Objectivity) จะทำให้เราสามารถวางแผนการณ์ในการลงทุนต่างๆได้อย่างครบถ้วนในทุกองค์ประกอบ จนกลายเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ระบบการลงทุน” นั่นเอง (Trading/Investing System) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้นหาหุ้นที่เข้าเงื่อนไข, การกำหนดจุดซื้อขาย, การกำหนดขนาดในการลงทุนแต่ละครั้ง, การบริหารความเสี่ยงระหว่างการถือครองหุ้น หรือแม้กระทั่งการรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นต่อการลงทุนของคุณบ้าง ทั้งในแง่ของข้อมูล, เครื่องมือ หรือแม้แต่อุปกรณ์ที่สำคัญต่างๆในการลงทุนที่จะขาดไม่ได้!
ซึ่งการมีระบบการลงทุนและกระบวนการลงทุนที่เป็นขั้นเป็นตอนอย่างชัดเจนนี้เอง จะทำให้คุณไม่เหลือช่องว่างให้กับการตัดสินใจตามอารมณ์และวิจารณญาณระหว่างการลงทุนอีกต่อไป คุณจึงไม่จำเป็นที่จะต้องคอยตัดสินใจแบบครั้งต่อครั้ง หรือตัดสินใจด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา และยังสามารถที่จะมอบหมายให้บุคคลอื่นๆ หรือแม้แต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยจัดการสิ่งต่างๆได้โดยอัตโนมัติ (ใช่ครับ! คุณไม่จำเป็นต้องฝึกวินัย, จิตใจ หรือนั่งสมาธิเพื่อการลงทุนกันอีกต่อไปครับ)
นอกจากนั้นแล้ว มันยังทำให้คุณสามารถขยับขยายขอบเขตในการลงทุนได้อย่างกว้างขวาง (Automate & Scalability) อาทิเช่น การขยายการลงทุนไปยังหุ้นในตลาดอื่นๆ หรือแม้แต่ตราสารอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะทำได้เพียงตัวของคุณเองคนเดียวเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมกองทุนยักษ์ใหญ่ระดับโลกจึงต้องการพัฒนาศักยภาพในการลงทุนอย่างเป็นระบบขึ้นมาเป็นหลายสิบปีแล้ว เนื่องจากมันให้ประสิทธิผลที่มากกว่าภายใต้ต้นทุนเท่าเดิมนั่นเองครับ
5. ความสม่ำเสมอในการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่ผลตอบแทนที่ดี และชีวิตที่เป็นสุขในระยะยาว (Consistency & Peace of Mind)
เมื่อคุณมีระบบการลงทุนแล้วนั้น วินัยในการลงทุนและความสม่ำเสมอในการลงทุนก็จะตามมา (ถ้าคุณไม่แหกมันนะครับ ซึ่งโอกาสแหกระบบจะลดลงจากความเข้าใจที่ได้จากข้อที่ 3 ครับ) และเมื่อคุณสามารถทำตามระบบที่ดีได้อย่างมีวินัยอยู่ตลอดเวลาแล้ว ผลตอบแทนที่ดีงามในระยะยาวก็จะกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ!
นอกจากนี้นั้น ประโยชน์อีกอย่างที่สำคัญมากๆจากการลงทุนอย่างเป็นระบบ ก็คือเรื่องความเป็นสุขในการลงทุนนั่นเองครับ (Peace of Mind) ซึ่งก็เนื่องมาจากการที่เรามีแผนการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่าดีพอที่จะรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆเอาไว้เรียบร้อยแล้ว จนไม่จำเป็นต้องคอยวิเคราะห์หุ้นหรือวางแผนในการลงทุนครั้งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา และไม่ต้องพะว้าพะวงไปตามตามตลาด จนไม่เป็นอันกินอันนอนเสียการเสียงานกันอีกด้วย
สุดท้ายนี้นั้น เมื่อจิตใจเป็นสุข สุขภาพที่ดีก็จะตามมาเช่นเดียวกัน โดยที่การลงทุนอย่างเป็นระบบนั้นจะทำให้คุณกินอิ่ม นอนหลับ ขับถ่ายเป็นเวลาอย่างมากขึ้น (ฮ่าๆ) เข้ากับคติ “ใช้เงินทำงาน” อย่างที่ตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเข้ามาลงทุนกันนั่นเองครับ (หลายๆคนอาจจะลืมไปแล้ว เพราะมัวแต่ตามหุ้นจนกลายเป็นการทำงานเพื่อเงินไป)
และนี่ก็คือเหตุผลและประโยชน์ต่างๆของการลงทุนอย่างเป็นระบบที่เผมเชื่อว่าหลายคนอาจไม่เคยรู้และไม่เคยนึกถึงมาก่อนกันนะครับ ขอให้ทุกท่านได้เริ่มต้นในลงทุนอย่างเป็นระบบ และพบความสุขกันทุกคนครับ 😀