ระบบการลงทุน

หลักปรัชญาการลงทุน The Oberweis Octagon

Thanadon Praphutikul

ในบทความนี้ ผมจะมาพูดถึงปรัชญาการลงทุนของผู้บริหารจัดการกองทุน James W. Oberweis หรือหลักการ “Oberweis Octagon” ว่าด้วยวิธีการลงทุนในหุ้นที่มีการเติบโตอย่างสูง (Rapid Growth Stock)  ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ทำให้กองทุนของ Oberweis นั้นสามารถสร้างผลตอบแทนที่ชนะตลาดได้อย่างยาวนานเป็นเวลากว่า 20 ปี (และเป็นหนึ่งในรากฐานของกลยุทธ์การลงทุน 10X ของ SiamQuant เช่นกัน) โดยหลักการและผลการทดสอบกับตลาดหุ้นไทยจะเป็นเช่นไรนั้น? เราไปติดตามกันเลยครับ ^^

ทำความรู้จักกับ James W. Oberweis

ในส่วนแรกนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ James W. Oberweis กันก่อน โดยที่ Oberweis จบการศึกษาสาขาวิชา Computer Science ที่มหาวิทยาลัย Illinois ก่อนจะมาศึกษาต่อทางด้าน MBA ที่มหาวิทยาลัย Chicago โดยในปัจจุบันเค้าได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัท Oberweis Asset Management (OAM) ซึ่งเป็นบริษัทบริหารจัดการทรัพย์สินและการลงทุน โดยมีผลิตภัณฑ์หลักๆเป็นกองทุนทั้งสำหรับนักลงทุนสถาบัน รวมถึงนักลงทุนโดยทั่วไป

ภาพที่ 1 : ภาพ James W. Oberweis

จุดเด่นของ OAM คือ เน้นการลงทุนในขนาดเล็กทั่วโลก โดยกองทุนจะมีความชำนาญด้านการบริหารแบบ Active Management หรือการมุ่งหาผลตอบแทนส่วนเกินจากตลาด ซึ่งความลับของความสำเร็จของ OAM คือ กระบวนการ (Process) ในการแสวงหาโอกาสที่จะลงทุนในบริษัทขนาดเล็กที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยทั้งหมดนี้มีพื้นฐานมาจากงานวิจัยเชิงวิชาการของทีมวิจัย OAM ที่เน้นไปที่การศึกษาความไร้ประสิทธิภาพของตลาด (Inefficiencies Market) ซึ่งเราจะทำการศึกษาเพิ่มเติมในส่วนถัดไปครับ

หลักฐานความสำเร็จของกองทุน The Oberweis Micro-Cap Fund

จริงๆแล้วกองทุนของ Oberweis นั้นมีผลิตภัณฑ์อยู่ด้วยกันหลายกองทุน โดยในที่นี้ผมขอเลือกหยิบผลการดำเนินงาน (Performance) ของกองทุน The Oberweis Micro-Cap Fund มาเป็นตัวแทนในส่วนนี้ เนื่องจากระยะเวลาการดำเนินงานของกองทุนที่มากกว่า 23 ปี (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996) ทำให้ผลลัพธ์มีความน่าเชื่อถือว่าอย่างน้อยๆกลยุทธ์ที่กองทุนใช้นั้นมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง โดยผลตอบแทนโดยเฉลี่ยทบต้นต่อปี (CAGR) ของกองทุนนี้เท่ากับ 9.46% เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนี Russell 2000 Growth Index และดัชนี Russell MicroCap Growth Index ซึ่งมีค่า CAGR เท่ากับ 6.43% และ 5.39% ตามลำดับ

ภาพที่ 2 : ภาพผลตอบแทนของกองทุน The Oberweis Micro-Cap Fund เปรียบเทียบกับดัชนี Russell 2000 Growth Index และดัชนี Russell MicroCap Growth Index (ที่มา : https://oberweisfunds.com/solutions/micro-cap-fund/)

จากภาพจะเห็นได้ว่าหากคุณเริ่มลงทุนด้วยเงินทุนตั้งต้น 10,000$ ในปี 1996 เมื่อจบปี 2018 คุณจะมีเงินทั้งสิ้น 80,300$ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้กองทุนสามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นได้ขนาดนี้คือ การใช้หลักปรัชญาการลงทุน “Oberweis Octagon” ในการคัดเลือกหุ้นสำหรับการลงทุน โดยผมจะอธิบายอย่างละเอียดในส่วนถัดไปครับ

หลักปรัชญาการลงทุน Oberweis Octagon

หลังจากที่เราได้เห็นหน้าตาผลตอบแทนของกองทุนดังกล่าวไปแล้ว ในส่วนนี้พูดถึงหลักการปรัชญาการลงทุนที่เรียกว่า “Oberweis Octagon” ซึ่งผมหยิบมาจาก Fund Summary Prospect ของกองทุน The Oberweis Micro-Cap Fund ที่ถูกเผยแพร่ในปี 2013 (หากใครต้องการศึกษาเพิ่มเติมสามารถดูได้จาก Reference ด้านล่างครับ) โดยหลักการดังกล่าวจะประกอบไปด้วย 8 ปัจจัยด้วยกัน คือ

  1. การเติบโตของผลกำไรในไตรมาสล่าสุดอย่างน้อย 30%
  2. การเติบโตของกำไรขั้นต้นก่อนหักภาษีในไตรมาสล่าสุดอย่างน้อย 30%
  3. อัตราส่วน PE Ratio ต้องมีความเหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตดังกล่าว
  4. ผลิตภัณฑ์ และสินค้าของบริษัทต้องมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
  5. อัตราการเติบโตในไตรมาสที่ผ่านมา ต้องเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
  6. อัตราส่วน Price to Sale Ratio ต้องอยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสม
  7. เพื่อป้องกันความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในอนาคต จะต้องมีการตรวจสอบงบการเงินในแต่ละส่วน ว่ามีส่วนใดบ้างที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต
  8. มีค่า Relative Strength ของหุ้นโดยมากกว่า 75 Percentile ของหุ้นทั้งหมด ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา

ซึ่งเราสามารถสรุปเป็นเงื่อนไขการเข้าซื้อขายได้ดังนี้

เงื่อนไขการเข้าซื้อ

  1. การเติบโตของค่า Trailing 12 Month EPS โตอย่างน้อย 30% ในไตรมาสล่าสุด
  2. การเติบโตของค่า Trailing 12 Month EBIT โตอย่างน้อย 30% ในไตรมาสล่าสุด
  3. อัตราส่วน PE Ratio มีค่าไม่มากกว่า 0.5 เท่าของการเติบโต โดยที่การเติบโตนี้จะใช้ค่าที่น้อยที่สุดระหว่างข้อ 1 และข้อ 2
  4. อัตราส่วน PS Ratio มีค่าไม่มากกว่า 0.5 เท่าของการเติบโต โดยที่การเติบโตนี้จะใช้ค่าที่น้อยที่สุดระหว่างข้อ 1 และข้อ 2
  5. ค่า Relative Strength ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมาต้องมีค่าสูงกว่า 75% ของหุ้นทั้งหมด
  6. เป็นหุ้นขนาดกลางถึงหุ้นเล็ก ซึ่งดูได้จากไม่ได้หุ้นในดัชนี SET50 และ SET100 ในขณะนั้น

หมายเหตุที่ 1 : แม้ว่าหลักการ The Oberweis Octagon จะไม่ได้มีระบุอย่างชัดเจนว่าต้องเป็นหุ้นขนาดกลางถึงเล็กเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับ Universe ที่กองทุนของ OAM ลงทุนนั้น ผมจึงได้มีการเพิ่มเงื่อนไขนี้เข้ามาด้วย

เงื่อนไขการขาย

  1. การเติบโตของค่า Trailing 12 Month EPS โตน้อยกว่า 30% ในไตรมาสล่าสุด
  2. การเติบโตของค่า Trailing 12 Month EBIT โตน้อยกว่า 30% ในไตรมาสล่าสุด

ผลการทดสอบหลักแนวคิด Oberweis Octagon กับตลาดหุ้นไทย

ภายหลังจากที่เราได้รู้แนวคิดการลงทุนดังกล่างแล้ว ในส่วนนี้เราจะนำหลักการดังกล่าวมาทำการทดสอบกับตลาดหุ้นไทย โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขสำหรับการทดสอบดังนี้

Condition Details
Backtesting Window
  • 01/01/2009 – 01/01/2019
Backtesting Restriction
  • เงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท
  • อัตราค่า Commission 0.15% (รวมซื้อขาย 0.3%)
  • Slippage  1% ทั้งการซื้อและขาย
  • Long Only
Universe
  • All Stocks หุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์
Entry
  • ทำการเข้าซื้อหุ้นด้วยเงื่อนไข Oberweis Octagon Signals
Exit
  • ทำการขายหุ้นด้วยเงื่อนไข Oberweis Octagon Signals
Position Size
  • ขนาดการลงทุนต่อตัวคือ 5% ของมูลค่าพอร์ตโฟลิโอ
Position Score
  • เรียงลำดับหุ้นที่มีอัตราส่วน PE Ratio ต่ำที่สุด
Order Management
  • ทำการซื้อขายราคาเปิด (Open) ของวันถัดไปของวันที่เกิดสัญญาณ)

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงเงื่อนไขสำหรับการทดสอบกลยุทธ์การลงทุน Oberweis Octagon

ซึ่งผลลัพธ์จากการทดสอบกลยุทธ์การลงทุน Oberweis Octagon กับตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีดังนี้

ภาพที่ 3 : ภาพแสดงการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอระหว่างกลยุทธ์ Oberweis Octagon (เส้นสีเขียว) กับดัชนี SET Index (เส้นสีดำ)

Portfolio Metrics Oberweis Octagon SET Index
Net Profit 887.32% 226.7%
CAGR 25.78% 12.57%
MaxDD -37.24% -25.48%
Longest DD (Month) 35.25 52.65
CAR/MDD 0.69 0.15
Trade Metrics Oberweis Octagon SET Index
No. of All Trade 484
Avg. Bar Held 81.74
% Win 46.28%
Avg. Profit/Loss % 13.07%
Max Consecutive Loss 18

ตารางที่ 2 : ตารางแสดงค่าสถิติระหว่างกลยุทธ์ Oberweis Octagon เปรียบเทียบกับดัชนี SET Index

จากภาพและตารางข้างต้นจะสังเกตได้ว่า กลยุทธ์การลงทุน Oberweis Octagon สามารถสร้างผลตอบแทนโดยเฉลี่ยทบต้นในการทดสอบได้สูงถึง 25.78% ต่อปี เมื่อเทียบกับดัชนี SET Index ที่ 12.57% หรือมี Excess Return ที่สูงกว่าเกือบเท่าตัว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพของปัจจัยหุ้นเติบโต (Growth), ความเหมาะสมด้านราคาเมื่อเทียบกับการเติบโต (Growth at Reasonable Price), แนวโน้มราคาของหุ้น (Momentum) และหุ้นขนาดเล็ก (Small Cap) ได้เป็นอย่างดี

โดยประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผลตอบแทนจากการทดสอบในตลาดหุ้นไทยนี้มีค่าสูงกว่าผลลัพธ์ของกองทุน The Oberweis Micro-Cap Fund เป็นอย่างมากนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในตลาดที่พัฒนาแล้ว (Developed Market) ความมีประสิทธิภาพของตลาดนั้นจะสูงกว่า ทำให้การสร้างผลตอบแทนส่วนเกินนั้นเป็นไปได้ยากกว่านั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในขั้นของการพัฒนากลยุทธ์ที่จะสามารถใช้งานได้ในระดับกองทุนนั้นยังมีปัจจัยต่างๆที่ต้องพิจารณาอยู่อีกมาก ซึ่งหากใครที่ได้เคยอ่านบทวิจัย White Paper ของกลยุทธ์การลงทุน The 10X Strategy รวมถึงเคยมาฟังงานสัมนาที่พวกเราได้บรรยายในหัวข้อดังกล่าวก็จะทราบดีว่า เราจะเน้นย้ำอยู่เสมอว่า ผลการวิจัยในระดับกองทุนนั้นต้องมีการพิจารณาเชิงลึกถึงปัจจัยในการปฏิบัติการหลายๆอย่าง โดยเราจะไม่สามารถใช้ผลการวิจัย (Backtest) ในระดับทั่วๆมาเป็นตัวเปรียบเทียบได้ครับ!!

หมายเหตุที่ 2 : สำหรับเพื่อนๆพี่ๆนักลงทุนที่สนใจศึกษาบทวิจัย The 10 Strategy White Paper สามารถศึกษาได้ที่นี้ครับ (Link Ref : http://www.siamquant.com/the-10x-strategy-white-paper/ )

หมายเหตุที่ 3 : เนื่องจากผลการวิจัยในระดับทั่วไปรวมถึงงานวิจัยชิ้นนี้ มีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบความมีประสิทธิภาพของกลยุทธ์การลงทุน แต่ยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆที่กระทบต่อการลงทุนจริง เช่น ปัจจัยด้านขนาดของพอร์ตโฟลิโอ (Impact of Portfolio Size), ปัจจัยด้านสภาพคล่อง (Liquidity) ว่าเพียงพอจะซื้อขายหรือไม่?, ปัจจัยด้าน Slippage ที่จะขึ้นอยู่กับขนาดของกองทุนและสภาพคล่อง, ปัจจัยด้านค่าบริหารจัดการต่างๆ (Fees) ที่จะกระทบต่อผล Performance และอื่นๆ

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลตอบแทนระหว่างการทดสอบของเรากับผลตอบแทนจริงของกลยุทธ์จะแตกต่างกันค่อนข้างมาก ซึ่งความละเอียดของการวิจัยนี้เป็นสิ่งที่ทีมงาน SiamQuant ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการที่ผลลัพธ์จากการวิจัยจะมีความน่าเชื่อถือและสามารถนำไปปฏิบัติใช้จริงนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดและรายละเอียดของการวิจัยว่าสามารถที่จะสะท้อนสภาพความเป็นจริงในการลงทุนได้มากน้อยเพียงใด

บทสรุป กลยุทธ์การลงทุน Oberweis Octagon

จากการทดสอบกลยุทธ์การลงทุน Oberweis Octagon นี้เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่พิสูจน์ความมีประสิทธิภาพของปัจจัยต่างๆทั้ง 4 ปัจจัยกับตลาดหุ้นไทย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านการเติบโต (Growth), ความเหมาะสมด้านราคาเมื่อเทียบกับการเติบโต (Growth at Reasonable Price), แนวโน้มของราคา (Momentum) และหุ้นขนาดเล็ก (Small Cap) ได้เป็นอย่างดี

โดยข้อได้เปรียบของนักลงทุนไทยในบ้านเราคือ ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความไร้ประสิทธิภาพ (Inefficiency Market) มากกว่าตลาดที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น โอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนส่วนเกินจึงเป็นไปได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีฐานข้อมูลที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์ที่มากกว่า ย่อมสามารถค้นหากลยุทธ์ที่สร้างความได้เปรียบ (Edge) ได้สูงกว่า

และเนื่องจากบทความนี้เป็นการนำกลยุทธ์ที่กองทุนปฏิบัติใช้จริงมาทดสอบ ซึ่งในปัจจุบันจะพบว่ากองทุนประเภท Quant Fund หรือ Algorithm  กำเนิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ดังนั้นผมจึงอยากฝากเพื่อนๆพี่ๆนักลงทุนทุกท่านที่สนใจกับกองทุนประเภทดังกล่าวให้พิจารณารายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆของงานวิจัยให้ดี เนื่องจากงานวิจัยที่ไม่ได้มีการจำลองระดับความเข้มงวดอย่างสมจริงนั้น จะส่งผลให้คุณประเมินผลตอบแทนคาดหวังที่สูง และความเสี่ยงที่ต่ำกว่าความเป็นจริงนั่นเอง!!

โดยสุดท้ายนี้ ทีมงาน SiamQuant หวังว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ และแรงบันดาลใจในการพัฒนากลยุทธ์ต่างๆของเพื่อนๆพี่ๆนักลงทุนกันครับ

Reference :

Oberweis Asset Management
The Oberweis Micro-Cap Fund Summary Prospect

Write A Comment