ในบทความนี้ ผมจะพาทุกคนไปพบความลับจากผลตอบแทนในอดีตของ 10 สุดยอดนักลงทุน ที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้เงินทุนเติบโตได้กว่า 10 เท่าขึ้นไป (10X Investors) จนได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางในระดับโลก เพื่อที่จะเราจะได้เรียนรู้ความสำเร็จและข้อผิดพลาดต่างๆ และทำความเข้าใจกับจากสิ่งที่พวกเขาทุกคนล้วนต้องเผชิญ กว่าที่จะสามารถสร้างความมั่งคั่งอย่างยืนจนกลายเป็นตำนานกันในวันนี้ได้ หวังว่าบทความนี้จะสร้างองค์ความรู้และแรงบันดาลใจให้กับนักลงทุนทุกคนกันนะครับ!!
ผลตอบแทนของโคตรตำนานเซียนหุ้นระดับโลก สำคัญอย่างไร?
ทำไมคุณจึงควรต้องเรียนรู้ถึงสถิติของผลตอบแทนในเชิงลึกของสุดยอดนักลงทุนเหล่านี้กันด้วยนะ!?
นั่นก็เพราะผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนที่ก้าวเข้ามาในตลาดหุ้นทุกคนนั้น ย่อมต้องมีนักลงทุนต้นแบบที่เป็นแรงบันดาลใจกันมาก่อนไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่า “สิบปากว่า นั้นไม่เท่าตาเห็น” ดังนั้น การที่เพียงแค่เคยได้อ่านได้ฟังถึงแนวคิดในการลงทุนของพวกเขามานั้น ก็คงไม่ทำให้เราได้เห็นภาพและเกิดความเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาพูด เท่ากับการได้เห็นผลตอบแทนของพวกเขากันจริงๆกันหรอกครับ และมันก็คงจะดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราสามารถถอดเอาความลับของผลตอบแทนเหล่านั้น ด้วยการคำนวณทางสถิติต่างๆ ให้กลายมาเป็นประโยชน์กับการลงทุนของพวกเรากันอีกด้วย
และนี่ก็คือจุดมุ่งหมายของบทความพิเศษชิ้นนี้ … ขอต้อนรับเข้าสู่จักรวาลแห่งผลตอบแทนของโคตรตำนานเซียนหุ้นระดับโลกกัน ณ บัดนี้ครับ!!
ประวัติโดยย่อ ของเหล่าโคตรตำนานเซียนหุ้นระดับโลก
สำหรับในการถอดความลับจากผลตอบแทนของบรรดาโคตรเซียนหุ้นระดับโลกในครั้งนี้นั้น เพื่อให้การวิจัยเป็นไปด้วยข้อมูลที่เชื่อถือได้โดยไม่ผิดพลาด จนก่อเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริงนั้น ผมจะขอยึดแนวทางการตัดสินใจเลือกเฟ้นสุดยอดนักลงทุนที่เราจะทำการศึกษาจากเงื่อนไขดังต่อไปนี้ครับ
- ต้องเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับโลก
- ต้องเป็นนักลงทุนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็ยต้นแบบ หรือผู้ปฎิบัติตามแนวทางการลงทุนที่มีหลักการ และเป็นวิธีการที่นักลงทุนส่วนบุคคลโดยทั่วไปสามารถปฎิบัติตามได้ (ขอข้ามพวก CTA, HFT หรือ AI-ML อะไรทั้งหลายไปก่อนนะครับ)
- ต้องเป็นนักลงทุนที่มีผลงานในระดับกองทุนที่ถูกเปิดเผยอย่างเป็นสาธารณะมาอย่างยาวนาน และสามารถหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือนำมาวิจัยและวิเคราะห์ต่อได้
โดยในตอนแรกๆหลังจากผมได้พยายามค้นคว้าหาบันทึกผลตอบแทน (Performance Track Record) ของนักลงทุนที่มีคุณสมบัติตามที่ได้กำหนดไว้นั้น ก็ได้พบว่าการหาแหล่งข้อมูลที่ครบถ้วนและมีความน่าเชื่อถือของนักลงทุนเหล่านี้นั้นไม่ใช่เรื่อง่ายเลยทีเดียวครับ เพราะส่วนใหญ่แล้วผลการลงทุนของพวกเขานั้นก็มักไม่ได้เปิดเผยออกมาเป็นสาธารณะ หรือเป็นข้อมูลโดยสรุป เช่น มีผลตอบแทนทบต้นโดยเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่เท่าไหร่ แต่ไม่ได้เปิดเผยถึงข้อมูลรายเดือนหรือรายปีใดๆออกมาเลย
จากที่กล่าวไปนั้น สุดท้ายแล้วผมจึงได้ข้อมูลของนักลงทุนที่ถือว่าเป็นโคตรตำนานเซียนหุ้นในระดับโลกมาจำนวนหนึ่งเท่านั้น โดยในบทความนี้ ผมได้คัดเลือกออกมาทั้งหมด 10 ท่าน ที่ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นที่รู้จักหรือมีความข้องเกี่ยวกับแนวทางการลงทุนของนักลงทุนไทยกันโดยทั่วไป ซึ่งประกอบไปด้วย นักโคตรเซียนหุ้นด้านการลงทุนเชิงคุณค่า (Value Investor) จากสำนักของเกรแฮมและดอดจ์ (Graham & Dodge Ville) จำนวน 6 คน และอีก 4 คนจะเป็นโคตรเซียนหุ้นในสไตล์หุ้นเติบโต (Growth) ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะสะท้อนถึงแนวทางการลงทุนของนักลงทุนไทยส่วนใหญ่กัน ซึ่งก็คือ
ภาพที่ 1 : การกระจายตัวของผลตอบแทนทบต้นโดยเฉลี่ย Annualized Return ของบรรดาโคตรเซียนหุ้นระดับโลกเปรียบเทียบกับดัชนี S&P500 Total รวมเงินปันผล
- Warren Buffett :
เทพเจ้าแห่งโอมาฮา เจ้าของบริษัท Berkshire Hatthaway มหาเศรษฐีของโลกเพียงคนเดียวที่สร้างความร่ำรวยได้จากการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลักเพียงอย่างเดียว เขายังเป็นตำนานนักลงทุนเชิงคุณค่าที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างยาวนาน จนพวกเราได้มีโอกาสไปเห็นกับตาด้วยตนเองมาในบทความก่อนนั่นเอง!
- Charlie Munger :
พื่อนคู่คิด มิตรคู่เงินทุนของ Buffett สุดยอดผู้ทรงปัญญาที่มักจิกกัดด้วยอารมณ์ขันอยู่ตลอดเวลา ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้ว่า Munger มีอิทธิพลต่อการลงทุนของ Buffett มากสักแค่ไหน แต่ที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือ ผลตอบแทนของเขานั้นไม่ธรรมดาเอามากๆเพราะมันสูงถึงราว 19% ต่อปีเลยทีเดียว
- Walter Schloss :
สุดยอดนักลงทุนเชิงคุณค่าแบบ Deep Value ที่แทบไม่เคยสนใจเข้าสมาคม หรืออยากพบเจอผู้บริหารเลย แต่อาศัยการตัดสินใจหลักๆจากเพียงตัวเลขงบการเงิน และตัวเลขที่เขาคำนวณได้จากเอกสารของ Value Line เท่านั้น อีกทั้งยังยึดหลักการกระจายความเสี่ยงอย่างยิ่งยวดจนอาจถือหุ้นในบางช่วงเวลาเป็นร้อยตัว
- Tom Knapp :
Tom Knapp คือหนึ่งในลูกศิษย์ของ Benjamin Graham ผู้ที่เปลี่ยนแปลงบริษัท Tweedy Browne จากโบรคเกอร์ให้กลายเป็นกองทุนเชิงคุณค่า ด้วยการกระจายความเสี่ยงอย่างยิ่งยวด จนสามารถสร้างผลตอบแทนที่เหนือตลาดด้วยความเสี่ยงที่ต่ำมากๆอย่างอัศจรรย์ โดยที่ Christopher Browne สุดยอดผู้จัดการกองทุนเชิงคุณค่า และผู้เขียนหนังสือ The Little Book of Value Investing ที่พวกเราอ่านกัน ก็คือลูกของ Tweedy Browne นั่นเอง
- Rick Guerin :
Rick Guerin คือนักลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นโดยเฉลี่ยต่อปีได้สูงที่สุดในกลุ่มลูกศิษย์ของ Benjamin Graham เขาคือคนที่ถูกกล่าวขานว่ามีความสามารถอยู่ในระดับเดียวกับ Buffett และ Munger เลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของ Rick Guerin นั้นไม่เป็นที่เปิดเผยออกมาสักเท่าไหร่นัก เราจึงอาจกล่าวได้ว่าเขาคือตัวละครลับที่น่าสนใจที่สุดคนหนึ่งของการลงทุนเชิงคุณค่าก็ว่าได้
- Bill Ruane :
Bill Ruane คือผู้ก่อตั้งกองทุน Sequoia Fund ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่จนถึงทุกวันนี้ เขาคือผู้ที่ Buffett ได้กล่าวไว้ในบทความ Super Investors ที่เขาเขียนเองว่า “Bill เป็นคนเดียวที่ผมกล้าแนะนำให้หุ้นส่วนของผม”
- John Neff :
John Neff สุดยอดผู้จัดการกองทุนในตำนานของ Windsors Fund เขาคือผู้ที่นำพา Windsors ใหกลายเป็นกองทุนรวมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุคของเขา จนถึงกับต้องปิดรับเม็ดเงินทุนก้อนใหม่อยู่ช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากองทุนของเขาจะมีขนาด AUM (Asset Under Management) ที่สูงที่สุดในขณะนั้น แต่เขาก็ยังสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่ชนะตลาดได้ในช่วงตลอดเวลากว่า 31 ปีที่เขาบริหารงานอยู่
- Sir John Templeton (TPT) :
Sir. John Templeton คือมหาเศรษฐีใจบุญ หนึ่งในตำนานด้านการลงทุนเชิงคุณค่า และผู้บุกเบิกการลงทุนเชิง Global Value Investing เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว เขาคือหนึ่งในผู้ที่คร่ำหวอดในวงแวดวงการลงทุนมาอย่างยาวนานไม่แพ้ Warren Buffett เลยทีเดียว จนนิตยสาร Money Magazine เรียกเขาว่า “arguably the greatest global stock picker of the century.” นอกจากนี้เขายังได้รับตำแหน่งอัศวินจากควีน Elizabeth II ในฐานะที่เขาสามารถสร้างความสำเร็จอย่างมากมายให้ประเทศอีกด้วยอีกด้วย
- T.Rowe Price :
Thomas Rowe Prices Jr. คือนักลงทุนผู้บุกเบิกและเผยแพร่แนวคิดในการลงทุนหุ้นเติบโต จนได้รับฉายาว่าเป็นบิดาแห่งการลงทุนแบบ Growth at Reasonabe Price (GARP) และยังเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงเพื่อลดความเสียหายในขณะที่ตลาดไม่เอื้ออำนวยลง นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้ที่บุกเบิกแนวทางการเก็บค่าบริหารแบบ AUM Based หรือเก็บจากสัดส่วนของมูลค่าเงินทุนที่กองทุนแทบทุกกองในโลกใช้อยู่ในปัจจุบันอีกด้วย
- Peter Lynch :
สุดยอดผู้จัดการกองทุน Magellan Fund ในตำนาน ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นโดยเฉลี่ยกว่า 29% ต่อปี ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 13 ปี โดยไม่เคยมีใดที่ขาดทุนเลย! เขาเป็นผู้ที่เผยแพร่แนวคิดในการแบ่งหุ้นออกเป็น 6 ประเภท และยังเป็นผู้ที่ทำให้การล่า “หุ้น 10 เด้ง” กลายเป็นวลีฮิตในหมู่นักลงทุนกันจนทุกวันนี้
โดยหลังจากที่เราได้ทราบกันไปแล้วว่าใครเป็นใครและมีความสำคัญอย่างไรนั้น ต่อจากนี้ จะเป็นผลลัพท์ที่น่าสนใจที่ผมได้ค้นพบจากการวิจัยในครั้งนี้ ไปอ่านกันเลยครับ!
ความลับสำคัญ จากบันทึกผลตอบแทนของโคตรเซียนหุ้นในระดับโลก
ผลลัทธ์ที่คุณจะได้เห็นต่อไปนี้ คือการที่ผมได้นำเอาผลตอบแทนของนักลงทุนทุกๆท่านตั้งแต่เริ่มต้นลงทุนจนเกษียนการบริหารเงินทุนที่อยู่ในลักษณะของผลตอบแทนรายปี (Yearly Return) มาเรียงกันตามช่วงเวลาที่พวกเขาได้ทำการลงทุนจริงๆ เทียบกับดัชนี S&P500 with Dividend ซึ่งได้รวมเอาปันผลในแต่ละปีเข้าไปด้วย เพื่อที่จะทำให้สามารถเปรียบเทียบจนเห็นถึงสภาวะการณ์ของตลาดในแต่ละช่วงเวลาออกมาได้อย่างชัดเจน โดยจากผลจากการศึกษาถึงสถิติผลการลงทุนของพวกเขานั้น ทำให้เราได้ค้นพบประเด็นและความลับสำคัญดังนี้ครับ
1. ความสม่ำเสมอและยั่งยืนในระยะยาว คือคุณลักษณะผลตอบแทนขอโคตรเซียนหุ้นทุกๆคน!
ภาพที่ 2 : ลักษณะการเติบโตของเงินทุนของบรรดาโคตรเซียนหุ้นระดับโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเสถียรและยั่งยืนในระยะยาว ตั้งแต่ปี 1951-1995 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาลงทุนอยู่ในขณะเดียวกันมากที่สุด
ผลตอบแทนของโคตรตำนานเซียนหุ้นระดับโลกนั้น มีการเติบโตที่สม่ำเสมอและยั่งยืนในระยะยาวที่สูงมากๆ!! โดยเราจะเห็นได้จากการที่ระดับของการเติบโตของเงินทุนนั้น (Cumulative Growth) สามารถที่จะเติบโตได้อย่างมั่นคงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยอาจมีบางปีที่เกิดการขาดทุนขึ้นเท่านั้น (เช่นช่วงวิกฤติตลาดหุ้นโลกในปี 1973-1974)
สิ่งที่น่าสนใจมากๆก็คือ การเติบโตของเงินทุนภายใต้การบริหารงานในระดับ “กองทุน” ของพวกเขานั้นสามารถที่จะสร้างเติบโตได้มากกว่า 10 เท่าเลยทีเดียวครับ (10X) ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ได้เกิดขึ้ในเวลาชั่วข้ามคืน, ข้ามเดือน หรือข้ามปี แต่เกิดขึ้นจากการทำกำไรที่ต่อเนื่องอยู่หลายปี จนสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงและยั่งยืนในระยะยาวออกมาได้!
มันจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงกลายมาเป็นตำนาน, ต้นแบบ และแรงบันดาลใจให้กับนักลงทุนทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะผลตอบแทนที่สูงและเสถียรยั่งยืนเป็นอย่างมากนั่นเองครับ!!
2. แต่การลงทุนให้บรรลุผลอย่างยิ่งใหญ่นั้น ย่อมต้องใช้ความมุ่งมั่น และความทรหดอดทนเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน!
ภาพที่ 3 : สถิติเชิงลึกจากผลตอบแทนในระยะยาวตลอดชีวิตการลงทุน ของบรรดาโคตรเซียนหุ้นระดับโลกที่เป็นแรงบันดาลใจของนักลงทุนทุกคน
ผลตอบแทนที่มหัศจรรย์ของพวกเขานั้นแม้จะน่าตื่นเต้น แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งที่มีคุณค่ากับพวกเราดั่งทองคำ กลับกลายเป็นเรื่องของอัตราการขาดทุนและความเสี่ยงที่พวกเขาได้เผชิญมาในอดีตต่างหาก!
นั่นก็เพราะ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะสามารถสร้างการเติบโตของพอร์ทโฟลิโอได้อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยต่อปี (Annualized Return %) ที่น่าเหลือเชื่อ และยังสามารถทำลายข้อครหาของทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ (EMH) ที่ว่า “เราไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว” ด้วยการเอาชนะตลาดจนสร้างค่า Alpha รายปีที่ทิ้งห่างเลข 0 ไปอย่างขาดลอยแบบมีนัยยะทางสถิติกันทุกๆคนนั้น
แต่อย่างไรก็ตาม … ผลตอบแทนในวันนี้ มันไม่ได้มาอย่างง่ายดายเลยสักนิด!!
โดยหากเราจะลองสังเกตุในแง่ของความเสี่ยงที่พวกเขาเคยเผชิญมาแล้วล่ะก็ เราจะพบว่าค่า Longest Drawdown หรือระยะเวลากลับมาคืนทุนที่ยาวนานที่สุดหลังพอร์ทโฟลิโอลดมูลค่าลงไปนั้น ไม่มีโคตรเซียนหุ้นคนใหนเลย ที่ใช้เวลาน้อยกว่า 2 ปีเพื่อสร้างพอร์ทโฟลิโอให้กลับมามีมูลค่าเท่าเดิมได้อีกครั้ง! (ยาวสุดคือ Buffett คือ 6 ปี)
และหากจะมองในแง่ของขนาดของการถดถอยของมูลค่าพอร์ทโฟลิโอแล้วล่ะก็ พวกเขาต้องเผชิญกับ Max. Drawdown ที่มากกว่า -30% กันเลยทีเดียว (ยกเว้น Templeton และ T.Rowe Price) โดยคนที่เจอมาหนักที่สุดก็คือ Rick Guerin, Charlie Munger และ Warren Buffett ซึ่งโดนไปคนละ -62%, -53% และ -50% ตามลำดับ โดยคุณต้องไม่ลืมว่านี่คือข้อมูลสรุปผลการลงทุนรายปี (Yearly Return) ซึ่งมักจะดูดีกว่าผลสรุปการลงทุนรายเดือนหรือราววัน (Monthly or Daily Return) ที่พวกเขาต้องเผชิญกันในขณะที่ทำการลงทุนอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ค่า Max. Drawdown หรือ Longest Drawdown ในระดับที่คนทั่วไปจะทนทานได้ และอันที่จริงแล้ว นักลงทุนโดยทั่วไปแทบไม่เคยคิดว่าพวกเขาจะต้องเจอกับสถานการณ์เช่นนี้กันด้วยซ้ำ! แต่มันคือเรื่องจริง เรื่องจริงที่คุณควรรู้ว่ามันได้เกิดขึ้นกับเซียนหุ้นส่วนใหญ่ทั้งในประเทศไทยและระดับโลกที่เขาไม่ค่อยได้บอกให้เราได้รู้กันสักเท่าไหร่นัก!
เมื่อเห็นกันอย่างนี้แล้ว เราคงจะได้ตระหนักกันซักทีว่า แม้แต่โคตรเซียนหุ้นระดับโลกแต่ละคน ก็ยังต้องเจอกับความเจ็บปวดและฟันฝ่ามันมาเช่นเดียวกัน อย่ามัวแต่ฝันหวาน มโนไปเองว่าหนทางมันจะสวยงามเหมือนกับที่ใครๆเขาบอกมา และนี่ก็คือหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่เราควรตระหนักถึงมันเอาไว้ตลอดเวลานั่นเองครับ
3. หนทางสู่ยอดเขา ไม่ได้มีทางเดียว!
ภาพที่ 4 : กราฟสหสัมพันธ์ (Correlation Chart) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนรายปีของบรรดาโคตรเซียนหุ้นในระดับโลก (หมายเหตุ : ค่า Correlation ในบางส่วน อาจมีความน่าเชื่อถือน้อย เนื่องจากจำนวนข้อมูลหรือปีในการลงทุนที่ซ้อนทับกันน้อยนั่นเอง)
สำหรับผมแล้ว ภาพกราฟสหสัมพันธ์ (Correlation Chart) ชิ้นนี้มีความหมายมาก เพราะมันได้บอกกับพวกเราอย่างชัดเจนว่าเลิกทะเลาะเรื่องแนวทางการลงทุนกันได้แล้ว! โดยมันได้แสดงให้พวกเราเห็นอย่างชัดเจนว่า แม้ว่าจะเป็นโคตรเซียนเหมือนกัน หรือกระทั่งเป็นลูกศิษย์สำนักเดียวกัน แต่ค่า Correlation ของผลตอบแทนที่แสดงออกมานั้น ได้บอกว่าถึงแม้มันจะคล้าย แต่ก็ไม่ได้เหมือนกันซะทั้งหมดนัก!!
ยกตัวอย่างเช่น Walter Schloss และ Rick Guerin ที่เป็นลูกศิษย์ของ Graham ทั้งคู่ แต่ผลตอบแทนมีค่า Correlation แค่ 0.35 เท่านั้น ซึ่งค่าสหสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุน Passive Fund ของไทยส่วนใหญ่ซึ่งมีค่า Correlation กับ SET Index โดยเฉลี่ยเกิน 0.8 กันทั่วหน้าด้วยซ้ำ
จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น เราจึงอาจมองได้ว่าทางขึ้นเขาคงจะไม่ได้มีทางเดียวจริงๆ (เพราะถ้ามีทางเดียวค่า Correlation ของนักลงทุนแต่ละคนควรต้องสูงกันมากกว่านี้ในระดับ 0.7-0.8 ขึ้นไป) การมัวแต่นั่งเถียงกันว่าวิชาของข้าดีที่สุดจึงอาจไม่ใช่สิ่งที่ฉลาดสักเท่าไหร่นัก เพราะจากการไล่อ่านประวัติของสุดยอดนักลงทุนเหล่านี้นั้น ผมพบว่าแต่ละคนเป็นนักอ่านผู้รักการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆชนิดหาตัวจับยากกันทุกๆคน (Buffett อ่านเฉลี่ยวันละ 500 หน้า โดยที่เขาถือว่ามันเป็นหน้าและกิจวรรตประจำวันของเขา) ดังนั้น หากอยากประสบความสำเร็จเหมือนพวกเขา พวกเราก็ควรต้องพยายามเปิดใจเรียนรู้ศาสตร์การลงทุนและองค์ความรู้ใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาอย่างที่พวกเขาได้ทำกันอยู่เสมอเช่นกัน!
เกร็ดความรู้ส่งท้าย จากสถิติจากผลตอบแทนของโคตรเซียนหุ้นบรรลือโลก
อันที่จริงแล้วประเด็นที่ผมได้กล่าวมานั้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งจากการวิเคราะห์ทางสถิติโดยสรุปเท่านั้น ความจริงแล้วยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกหลายอย่างที่คิดว่าสามารถเขียนให้อ่านกันได้อีกยาว แต่มันคงจะยาวเกินไปที่จะเขียนให้จบภายในบทความเดียวนะครับ ดังนั้น ก่อนที่จะจบบทความนี้ ผมจึงอยากที่จะแปะภาพและข้อมูลเชิงสถิติที่น่าสนใจหลายๆอย่างทิ้งเอาไว้ เพื่อเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆเผื่อว่าเพื่อนๆท่านใดสนใจอยากรู้เรื่องเพิ่มเติม ผมก็จะได้นำมาเล่าในบทความหรือบทวิจัยชิ้นใหม่ต่อๆไป
สุดท้ายนี้อย่าลืมแชร์ไปให้เพื่อนๆนักลงทุนของคุณอ่านเพื่อเป็นความรู้และกำลังใจในเส้นทางของนักลงทุนกันนะครับ สวัสดีครับ! 😀
ภาพที่ 5 : กราฟแสดงการเติบโตของเงินทุน หักลบด้วยผลตอบแทนของดัชนี S&P500 Total แบบรวมปันผล (Cumulative Excess Return) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดในระยะยาว (ตลาดถูกเปลี่ยนให้เป็นค่าคงที่แนวราบที่ 1 เท่า)
ภาพที่ 6 : กราฟแสดงการผลตอบแทนทบต้นแบบย้อนหลัง 8 ปี (8 Years Rolling Annualized Return) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นที่สุด ที่จะทำให้ค่าของโคตรเซียนหุ้นทุกๆคนไม่มีค่าต่ำกว่า 0 หรือพูดง่ายๆก็คือภาพสะท้อนที่ทำให้เราได้เห็นว่า หากเราเข้าไปลงทุนในช่วงเวลาที่เป็นจุด Peak ของเงินทุนของเซียนหุ้นแต่ละคนพอดีนั้น เราจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 ปี เพื่อรอให้เงินทุนของเรากลับมามีมูลค่าเท่าทุนหรือมากกว่าเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา แม้ว่าเราจะมีโอกาสได้ลงทุนกับบรรดาโคตรเซียนหุ้นเหล่านี้ก็ตาม
ภาพที่ 7 : ภาพ Scatter Chart เปรียบเทียบผลตอบแทนทบต้น Annualized Return กับความเสี่ยง Annualized Standard Deviation ของโคตรเซียนหุ้นแต่ละคน เทียบกับดัชนี S&P500 Total ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความจริงแล้วมีนักลงทุนเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาด แต่ยังคงมีความเสี่ยง (ความผันผวนของพอร์ทโฟลิโอ) ที่น้อยกว่าตลาดอยู่ อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่าค่า Standard Deviation นั้นนำเอาทั้งค่าบวกและลบมาคิด มันจึงทำให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกเยอะๆในแต่ละปีกลายเป็นสิ่งที่มีผลลบต่อการมองโลกด้วยผลตอบแทนต่อความเสี่ยงในรูปแบบนี้
- ผู้ที่สร้างการเติบโตได้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องได้ผลตอบแทนทบต้นโดยเฉลี่ยหรือ Annualized Return สูงที่สุด แต่เป็นผู้ที่สามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นที่สูงไปเรื่อยๆในระยะยาว ดังเช่นที่ Buffett ได้แสดงให้เห็นว่าเขาสามารถสร้างผลกำไรกว่า 23,987 เท่าในเวลา 53 ปี
- Tom Knapp แห่ง Tweedy Brown คือนักลงทุนที่สร้างผลตอบแทนได้ด้วยความผันผวนที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับดัชนี S&P500 โดยมีค่า Standard Deviation, Max DD และ Beta เพียง 12.64%, -1.2%, 0.38 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากแนวทางการลงทุนเน้นคุณค่า และการกระจายความเสี่ยงอย่างยิ่งยวดของเขา
- Walter Schloss คือนักลงทุนเน้นคุณค่าที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่มหัศจรรย์ได้ด้วยแนวทางการลงทุนอย่างเป็นระบบ โดยสามารถสร้างพอร์ทโฟลิโอที่มีค่า Sortino Ratio หรือผลตอบแทนทบต้น ต่อความผันผวนของพอร์ทที่คิดเฉพาะค่าที่ติดลบ (Negative Return) ที่สูงที่สุดในบรรดาโคตรเซียนจากสาย Graham-Dodge Ville ที่ 3.82 เท่า! นั่นแปลว่า ความผันผวนส่วนใหญ่จากพอร์ทโฟลิโอของเขานั้น เกิดขึ้นมาจากการทำกำไรที่เป็นบวกทั้งสิ้น
- แม้ว่า Buffett จะกล่าวไว้ว่าเขามีกฎเหล็กคือ “จงอย่าขาดทุน!” แต่ตัวเขาเองก็มีปีที่ผลตอบแทนติดลบอยู่เช่นเดียวกันทั้งสิ้น 11 ปี โดยคิดเป็นสัดส่วนราวๆ 20% ของเวลาที่ลงทุนทั้งหมด และยังเคยเผชิญกับ Max Drawdown ที่สูงถึง -50% ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นแล้ว เราจึงควรตีความหมายของคำกล่าวที่ว่า “จงอย่าขาดทุน!” ในแง่ของการเข้าซื้อที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าตั้งแต่เริ่มต้น แต่ไม่ใช่ว่าห้ามขาดทุนหรือเกิด Drawdown เลยในแต่ละปี เพราะแม้แต่ตัว Beffett เองก็ไม่สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
- Peter Lynch คือนักลงทุนเพียงคนเดียวที่ไม่เคยขาดทุนในการบริหารเลย โดยตลอดชีวิตการบริหารกองทุนของเขานั้น สามารถสร้างผลตอบแทนทบต้น Annualized Return ที่ 29.22% ต่อปี โดยเอาชนะตลาดได้เฉลี่ยถึงปีละกว่า 13% อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมด้วยว่าปัจจัยเสริมของเขาที่เหนือกว่านักลงทุนคนอื่นคือสภาวะของตลาดหุ้นอเมริกาที่ดีมากๆโดยติดลบเพียงแค่ 3 ปี จาก 13 ปี ที่เขาบริหารอยู่เท่านั้น
- Rick Guerin คือนักลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นได้สูงที่สุดในบรรดาลูกศิษย์สำนักเกรแฮมที่ราว 32% ต่อปี อย่างไรก็ตาม เขาก็เป็นเจ้าของสถิติ Max. Drawdown ที่สูงที่สุดถึง -62% ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่เขาโฟกัสและใช้มาร์จิ้นในระดับที่สูงมาก โดยเมื่อ Monish Pabrai ผู้เขียนหนังสือ Dundo Investor ถาม Buffett ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Rick Guerin กันแน่เขาจึงหายไปไหนจากวงการ? Buffett ตอบเพียงแค่ว่า “เขาต้องการรวยเร็วเกินไป!
- ค่า Correlation จากผลตอบแทนของ Charlie Munger และ Warren Buffett ในช่วงเดียวกัน ก่อนที่จะร่วมกันบริหารกองทุนนั้น ไม่ได้สูงอย่างที่หลายๆคนคิด โดยที่พวกเขามีค่า Correlation อยู่ที่ราวๆ 0.5 เท่านั้น ซึ่งแปลว่าก่อนที่เขาจะได้พบกันนั้น ทั้งคู่อาจมีแนวคิดคล้ายกัน แต่ยังมีแนวทางการลงทุนที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร
- T. Rowe Price คือนักลงทุนที่มีค่า Correlation กับดัชนี S&P500 สูงที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้แปลก เพราะเขาคือหนึ่งในผู้ปฎิวัติคนแรกๆของวงการ Mutual Fund ในโลกนี้เลยก็ว่าได้