- ทำไมปี 2023 จึงยังคงเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย? - December 25, 2023
- 5 ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยๆในการวิเคราะห์ผลการลงทุน - September 13, 2020
- พิสูจน์ความอันตรายของการเก็งกำไรระยะสั้นด้วยทฤษฎี Risk of Ruin - July 19, 2020
คิดว่าช่วงหลังๆเพื่อนๆพี่ๆน้องๆนักลงทุนหลายๆท่านอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวศาสตร์ที่เรียกว่า Behavioral Finance หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า “ศาสตร์การเงินเชิงพฤติกรรม” กันบ่อยมากขึ้น แต่อาจจะไม่ค่อยได้เห็นความสำคัญของมันกันมากเท่าไหร่ โดยวันนี้ผมจึงอยากที่จะมาอธิบายให้ทุกได้เข้าใจ, เห็นความสำคัญและทราบถึงประโยชน์ของวิชา Behavioral Finance กันครับ
Behavioral Finance คืออะไร?
Behavioral Finance หรือวิชา “การเงินเชิงพฤติกรรม” คือ ศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการต่อยอดทฤษฏีตลาดมีประสิทธิภาพ หรือ Efficient Market Hypothesis ซึ่งถือเป็นหนึ่งในทฤษฏีรากฐานของวิชาการเงินการลงทุนที่เรามักต้องเรียนกันมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ถ้าให้พูดกันแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องอ้างอิงสมการทางคณิตศาสตร์ใดๆ ทฤษฏี Efficient Market Hypothesis ถูกตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ราคาของสินทรัพย์ต่างๆที่อยู่ในตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพนั้นมีการสะท้อนข่าวสารทุกอย่างที่เกิดขึ้นไปจนหมดแล้ว โดยนักลงทุนนั้นจะไม่สามารถหากำไรจากส่วนต่างของราคาปัจจุบันและราคาที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับเหนือตลาดนั้นเป็นแค่ “ลูกฟลุ๊ก” หรือความบังเอิญทางสถิติเพียงเท่านั้น
หมายเหตุ : ถ้าเพื่อนๆคนไหนอยากอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฏีตลาดมีประสิทธิภาพ หรือ Efficient Market Hypothesis สามารถตามไปอ่านได้ในบทความ สิ่งที่คุณควรรู้ ก่อนเริ่มต้นการลงทุนแบบ Passive Investing ได้เลยครับ
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป นักวิชาการทั่วโลกต่างก็ค้นพบและตีพิมพ์งานวิจัยที่พูดถึง ช่องโหว่ของทฤษฏีตลาดประสิทธิภาพ (Efficient Market Hypothesis) มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการค้นพบหลักฐานหลายๆอย่างในการลงทุนในหุ้นด้วยกลยุทธ์ที่ใช้ปัจจัย Momentum, Value และ Growth หรือแม้แต่นักลงทุนชื่อดังระดับโลกหลายๆท่านที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ชนะตลาดได้ตลอดอาชีพการลงทุนของพวกเขา (โดยเพื่อนๆสามารถอ่านเกี่ยวกับนักลงทุนเหล่านี้ได้ในบทความ ถอดรหัสผลตอบแทน โคตรตำนานเซียนหุ้นระดับโลก!) จนได้กลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า “Investment Anomaly” ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
โดยแนวคิดที่เป็นรากฐานของ Behavioral Finance นั้น ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปีค.ศ. 1990 โดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Robert Chiller
ภาพที่ 1 : Robert J. Chiller นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และผู้แต่งหนังสือ irrational exuberance
โดยแนวคิดของ Behavioral Finance นั้นคือความพยายามที่จะเชื่อมโยงพฤติกรรมในการลงทุนของมนุษย์ด้วยความรู้ทางด้านจิตวิทยา กับหลักฐานทางวิชาการต่างๆที่แสดงถึงความไร้ประสิทธิภาพของตลาดซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากการอธิบายด้วยทฤษฏี Efficient Market Hypothesis นั่นเอง
เข้าใจพฤติกรรมของนักลงทุนรายย่อย
เหตุผลที่ทำให้ศาสตร์ Behavioral Finance มีความน่าสนใจก็คือ การที่เราจะได้เรียนรู้และยอมรับซึ่ง “จุดอ่อน” ในกระบวนการตัดสินใจของนักลงทุนที่เป็นมนุษยธรรมดาสามัญอย่างเราๆท่านๆ
ในความจริงนั้น มนุษย์อย่างเราๆท่านๆนั้นไม่มีทางที่จะมีคงความมีเหตุผลไว้ได้ 100% โดยผมจะขอถามผู้อ่านทุกคนว่า คุณเคยทำสิ่งเหล่านี้ไหม? เช่น ขับรถโดยไม่รัดเข็มขัดนิรภัย, ยั่วโมโหแฟนตอนที่เค้ากำลังหิว หรือแม้่กระทั่งไม่ยอมลุกออกจากเตียงถึงแม้นาฬิกาปลุกจะดังในตอนเช้า โดย Daniel Kahneman นักจิตวิทยารางวัลโนเบล ผู้เขียนหนังสือ Best Seller “Thinking, Fast and Slow” โดยเขาได้เล่าถึง กระบวนการคิดของมนุษย์ที่มีการแบ่งออกเป็น System 1 และ System 2
ภาพที่ 2 : Daniel Kahneman นักจิตวิทยารางวัลโนเบลและหนังสือ Best Seller ของเขา “Thinking, Fast and Slow”
System 1 “think fast, survive in the jungle” คือกระบวนการคิดเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นเงาตะคุ่มๆในพุ่มไม้ สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของเรานั้นจะถอยห่างออกโดยอัตโนมัติ (ถึงแม้สุดท้ายมันจะเป็นแค่ลมพัดก็ตาม) โดยจุดประสงค์ของ System 1 นั้นคือ การช่วยให้ตัวเราอยู่รอดปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมที่มีสัตว์มีพิษหรือนักล่าอยู่
ส่วน System 2 นั้นคือ กระบวนการคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์และคำนวนเป็นหลัก (Analytical) ที่ถึงแม้ว่าความเร็วในการประมวลผลนั้นจะช้ากว่า System 1 อยู่มากก็จริง แต่มันคือส่วนสมองหลักๆที่เราใช้ในการประมวลเหตุผล ประกอบการตัดสินใจใหญ่ๆในชีวิตที่จะส่งผลกับชีวิตเราในระยะยาว เช่น การเลือก Deal กู้ซื้อบ้าน, การเลือกคณะที่จะเรียน เป็นต้น
ในขณะที่ System 1 นั้นช่วยให้เราตอบสนองต่อภัยอันตรายในป่า (หรือบนท้องถนน) System 2 นั้นจะเป็นตัวช่วยเราให้เราสามารถใช้เหตุผลในการตัดสินใจในสิ่งที่จะมีผลหรือภาระผูกพันธ์ระยะยาวกับชีวิตของเรา ซึ่งทั้ง 2 ระบบนั้นต่างก็มีประโยชน์ของมันเอง แต่ปัญหาที่พบคือ ทั้ง 2 ระบบนั้นมีจังหวะที่การทำงานที่ทับซ้อนกันอยู่ ไม่ทราบว่าเพื่อนๆผู้อ่านเคยเจอประสบกับสถานการณ์แบบนี้หรือไม่ครับ ?
“นาฬิกาเรือนนั้นมันสวยมากๆเลยแถมเป็น Limit Edition อีก ยังไงก็ต้องมีให้ได้” (ถึงแม้ตอนนี้ต้องประหยัด)
”ราคา Condo นี้มันไม่ลงหรอก ก็รอมาตั้งนานแล้วไม่เห็นลงซักที ต้องซื้อตอนนี้เลย!” (ความกลัวที่จะตกรถ)
”ของหวานนี้ได้แถมมากับชุดอาหารนะ กินนิดนึงคงไม่เป็นไรหรอกมั้ง” (แต่บ่นตลอดว่ากลัวอ้วน)
มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะถึงแม้ System 1 จะสามารถให้เรามีชีวิตรอดในป่าได้ แต่กลับไม่ช่วยให้เรามีชีวิตรอดในสมรภูมิตลาดหุ้นเลยแม้แต่นิดเดียว
John Maynard Keynes บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค แลนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากได้เคยกล่าวไว้ ในตอนที่เขานั้นขาดทุนอย่างหนักจากการเก็งกำไรค่าเงิน
“Markets can remain irrational longer than you can remain solvent.”
ภาพที่ 3 : John Maynard Keyne บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค
ซึ่งถ้าให้ตีความแบบง่ายๆก็คือความไร้ประสิทธิภาพของตลาดจากความไร้เหตุผลของนักลงทุนนั้นมันสามารถอยู่ได้ยาวนานเกินกว่าที่สินทรัพย์ของคุณซะอีก!
ซึ่ง Behavioral Finance ก็คือการนิยามรูปแบบของพฤติกรรมไร้เหตุผลเหล่านี้ของนักลงทุนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในตลาดหุ้น เช่น
Overconfidence : ความมั่นใจที่มากเกินไป เช่น “ชั้นเคยได้กำไรจากหุ้นตัวนี้มาเยอะก่อนหน้านี้ หุ้นนี้ต้องดีมากแน่ๆ”
Optimism : การมองโลกในแง่ดีเกินจริง จนขาดการพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เช่น “ตลาดหุ้นยังไงก็ต้องเป็นขาขึ้นอยู่แล้วในระยะยาว”
Self Attribution Bias : การมองว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากตัวเอง เช่น “ชั้นเคยบอกตั้งแต่แรกแล้วไง ว่าหุ้นตัวนี้มันต้องขึ้น” หรือ “ชั้นก็แค่ดวงตกที่ซื้อหุ้นแล้วขาดทุน”
Endowment Effect : อคติในการประเมินค่าสูงจนเกินไปด้วยค่านิยมของสังคม “คุณ A เป็นถึงผู้จัดการกองทุนจากธนาคารใหญ่ หุ้นที่เขาบอกต้องขึ้นแน่ๆ”
Anchoring : การยึดติดกับราคาหุ้นที่เคยเห็นก่อนหน้านี้ เช่น “หุ้นตัวนี้ฉันเคยเห็นมาตั้งแต่ก่อน 10 บาท ตอนนี้ขึ้นมาตั้ง 20 บาทยังไงก็ซื้อไม่ลงหรอก”
Availability : การพิจารณาหรือตัดสินใจโดยให้น้ำหนักจากข้อมูลที่เรามีอยู่เพียงอย่างเดียว เช่น “หุ้นตัวนี้รายงานงบแย่มากๆ ราคามันต้องลงแน่ๆ แต่ทำไมราคามันขึ้นได้ตั้ง 100%”
Framing : ปรากฏการณ์การวางกรอบความคิด ในการเลือกรับรู้ข้อมูลแค่ในสิ่งที่อยากจะรับรู้เท่านั้น เช่น “ตราบใดที่ยังไม่ขายซะอย่าง ฉันก็ไม่ขาดทุน”
ซึ่งตัวอย่างพฤติกรรมการลงทุนที่มีอคติ (Bias) ตามหมวดหมู่ต่างๆเหล่านี้เองที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยกว่า 90% นั้นประสบกับการขาดทุน ซึ่งถ้าคุณได้อ่านมาถึงตรงนี้ ผมอยากให้ลองคิดทบทวนพฤติกรรมการลงทุนของตัวเราเอง ว่าได้ทำในสิ่งที่คล้ายๆกับตัวอย่างก่อนหน้าหรือไม่ แล้วคุณจะได้คำตอบว่าจริงๆทุกวันที่เราอยู่ในสมรภูมิตลาดหุ้นนั้น เรากำลังเป็นผู้ล่า หรือผู้ที่ถูกล่ากันแน่?
เข้าใจพฤติกรรมของมืออาชีพ
กลุ่มคนที่เรียกได้ว่าเป็นนักลงทุนมืออาชีพนั้น คือกลุ่มคนที่คร่ำหวอดในการลงทุนมาอย่างยาวนาน โดยพวกเขามีทั้งความได้เปรียบในเรื่องข้อมูล, ประสบการณ์การลงทุน รวมถึงความเข้าใจในพฤติกรรมของนักลงทุนรายย่อยที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด
แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนมืออาชีพเหล่านี้ ก็มีพฤติกรรมพื้นฐานบางอย่างที่สามารถนิยามออกมาได้ตามหลักของ Behavioral Finance ได้เช่นกัน ซึ่งการที่เราเข้าใจในพฤติกรรมและข้อจำกัดของมืออาชีพเหล่านี้อาจทำให้เราสามารถที่จะสร้าง “ความได้เปรียบ” บางอย่างในกลยุทธ์การลงทุนของเราก็เป็นได้
ซึ่งจริงๆแล้ว กลุ่มนักลงทุนเรียกได้ว่าที่เป็น “ผู้ล่า” หรือ “มืออาชีพ” นั้น พวกเขาเองก็มีแนวความคิดทางจิตวิทยาที่แตกต่างจากนักลงทุนทั่วไป โดยสิ่งเหล่านี้นั้นมีส่วนอย่างมากในการตัดสินใจในวิธีการลงทุน และกลยุทธ์การลงทุนที่นำมาใช้ โดยสิ่งที่อยู่ใจในมืออาชีพเหล่านี้นั้น มีอยู่ 2 เรื่องหลักๆด้วยกัน
- ผลตอบแทนคาดหวังระยะยาว (Expected Long-term Performance)
- ความเสี่ยงในอาชีพการงาน (Career Risk)
โดยผมจะขออธิบายด้วยการยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติว่านาย A เป็นผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) ที่รับผิดชอบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง 100,000 คน และมีกลยุทธ์การลงทุนให้เลือก 2 กลยุทธ์ด้วยกัน
Strategy A : กลยุทธ์การลงทุนที่สามารถชนะตลาดปีละ 1% เป็นเวลา 25 ปี และมีโอกาสที่จะแพ้ตลาดน้อยเพียงแค่ 1% เท่านั้น
Strategy B : กลยุทธ์การลงทุนที่สามารถชนะตลาดได้ปีละ 5% เป็นเวลา 25 ปี แต่ก็มีช่วงที่จะแพ้ตลาดถึง 5 % ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี เช่นกัน
หมายเหตุ : โดยผมจะขอสมมติว่าผู้จัดการกองทุนนั้น สามารถที่จะทราบผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคตแล้วด้วยเวทมนตร์บางอย่างนะครับ
อยากให้ลองเดากันดูว่านาย A จะเลือกกลยุทธ์ไหนในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง 100,000 คน
ก็ต้องเลือกกลยุทธ์ A ซิครับ!! เพราะใครกันอยากจะตกงาน!
ถึงแม้กลยุทธ์ A นั้นอาจจะดูเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลตอบแทนน้อยกว่ากลยุทธ์ B อย่างชัดเจนในระยะยาว แต่สิ่งที่อยู่ใน “จิตวิทยา” ของมืออาชีพน้้นมันมีความซับซ้อนมากกว่านั้นมาก เพราะ Fund Manager นั้นแทบทั้งหมดไม่ได้เป็นเจ้าของเงินทุนเอง เป็นการทำงานในฐานะ “ทหารรับจ้าง” ในโลกการเงินก็ว่าได้
กล่าวคือ ทำให้การตัดสินใจของ “มืออาชีพ” บางครั้งนั้น อาจจะไม่ได้เป็นเกี่ยวกับการเลือกกลยุทธ์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ในระดับความเสี่ยงที่ต่ำสุดให้กับนักลงทุนก็เป็นได้ โดยการเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกับ “ตัวชี้วัด” หรือ Benchmark ที่คนในอุตสาหกรรมกองทุนใช้กันนั้น กลับกลายเป็นทางเลือกที่ “เสี่ยง” เกินไป!
อยากให้ผู้อ่านลองนึกภาพว่าการที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นแพ้ตลาดถึง 5% ติดต่อกัน 5 ปี จะทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทั้ง 100,000 คนนั้นโกรธซักแค่ไหน โดยผมรับประกันได้ว่า นาย A นั้นจะไม่ได้อยู่จนถึงวันที่ได้เห็นความสำเร็จของ Strategy B อย่างแน่นอน
จะเห็นได้จากตัวอย่างนี้ว่า ถึงแม้ Fund Manager นาย A จะมี Strategy B ที่สามารถสร้างผลตอบแทนระยะยาวได้อย่างมหาศาล (และเขาเองก็รู้ว่ามันใช้ได้) แต่การที่เขานั้นไม่ได้เป็นเจ้าของเงิน และไม่สามารถที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจกับเจ้าของเงินให้รับการขาดทุนติดต่อกันถึง 5 ปีได้ ทำให้เขาจึงต้องจำเป็นที่ต้องเลือก Strategy A เพื่อที่จะรักษา “หน้าที่การงาน” ของเขาไว้ โดยผมขออนุญาต Quote บทความส่วนหนึ่งที่ลงในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ที่พูดถึงกองทุน CGM Focus Fund ของคุณ Ken Heebner
Ken Heebner’s $3.7 billion CGM Focus Fund, rose more than 18% annually and outpaced its closest rival by more than three percentage points.
Too bad investors weren’t around to enjoy much of those gains. The typical CGM Focus shareholder lost 11% annually in the 10 years ending Nov. 30, according to investment research firm Morningstar Inc.
โดยในรายงานนี้ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งที่ว่า ถึงแม้กองทุน CGM Focus Fund ของ Ken Heebner จะสร้างผลตอบแทนได้ถึง 18% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแต่นักลงทุนส่วนใหญ่กลับมีขาดทุนกว่า 11% ต่อปี เพราะพวกเขานั้นไม่มีความอดทนมากพอที่จะอยู่กับกองทุนได้จนครบ 10 ปี โดยส่วนมากนักลงทุนในกองทุนเหล่านี้ มักตัดสิน Performance ของผู้จัดการกองทุนแบบปีต่อปี, ไตรมาสต่อไตรมาส
ภาพที่ 4 : The Wall Street Journal หนังสือพิมพ์ธุรกิจที่เริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1889 และร่วมก่อตั้งโดย Charles Henry Dow ผู้คิดค้น Dow Jones Industrial Average
กลายเป็นว่าพฤติกรรมของนักลงทุนที่จดจ่ออยู่กับผลลัพท์ระยะสั้นนั้น ทำให้ Fund Manager ที่อยู่ในอุตสาหกรรมส่วนมากถูกจำกัดไว้ที่เพียงกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ในระยะสั้นและเกาะไปตามๆกับ Benchmark เท่านั้นเพื่อรักษา “เก้าอีั” ไว้แทนที่จะพยายามสร้างผลตอบแทนที่สูงที่สุดในระดับความเสี่ยงที่ต่ำที่สุดให้แก่นักลงทุน
โดยกรณีนี้ได้ต่อมาเป็น ตัวอย่างของกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนในการจัดการกองทุนในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงใน Journal of Finance “Limit of Arbitrage” โดย Andrei Shleifer และ Robert Vishny
แต่หลังจากที่คุณได้เห็นความเสี่ยงจากความผันผวนของผลตอบแทนระยะสั้นต่ออาชีพการงานของ Fund Manager เหล่านี้แล้ว คุณจะโทษพวกเขาได้หรือ ?
บทสรุปของ Behavioral Finance
เป็นอย่างไรบ้างครับ ผมหวังว่าจะทำให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆผู้อ่านได้มีความเข้าใจถึงศาสตร์ของจิตวิทยาการเงินหรือที่เรียกว่า Behavioral Finance กันมากขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วสำหรับตัวผมเองนั้น การนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) มาประกอบกันกับ Behavioral Finance ช่วยทำให้ผมได้เปิดความเข้าใจในกลไกของตลาดหุ้น รวมถึงพฤติกรรมและเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นได้มากขึ้นครับ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้นั้นมีประโยชน์เป็นอย่างมากในการเสริมสร้างจิตวิทยาการลงทุนที่แข็งแกร่ง รวมถึงความเข้าใจในพฤติกรรมของกลยุทธ์การลงทุนที่เราเลือกใช้ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในส่วนที่สำคัญมากๆสำหรับการสร้างผลตอบแทนที่ชนะตลาดในระยะยาวครับ