องค์ความรู้จากการลงทุนอย่างเป็นระบบ

การตั้ง Profit Target ช่วยรักษากำไรให้กับกลยุทธ์ Trend Following ได้จริงหรือ!?

Koedkao Peeratiyuth

ในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะที่แนวโน้มใหญ่กลับตัวเป็นขาลงแบบนี้ ผมเชื่อว่าเพื่อนๆพี่ๆน้องๆนักลงทุนหลายๆท่านที่ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Trend Following น่าจะเกิดความรู้สึก “เสียดาย” อยู่ในใจกันอยู่บ้าง เพราะถ้าให้มองย้อนกลับไป ผมเชื่อว่านักลงทุนแทบทุกคนที่ประสบเหตุการณ์แบบนี้มา มักเกิดคำถามในใจว่า “ถ้าตอนนั้นเรามีการตั้งจุดขายทำกำไรเมื่อหุ้นขึ้นไปซัก 10-20 % ก็คงจะดีกว่าที่จะต้องมาตัดขาดทุนทีหลังเมื่อหลุดราคาหลุดแนวโน้ม” 

โดยในบทความนี้ผมจะทำการทดสอบวิจัยให้เพื่อนๆได้เห็นถึงผลกระทบของการที่กลยุทธ์การลงทุนแบบ Trend Following มีการตั้ง “จุดขายทำกำไร” หรือ “Profit Target” และมันจะช่วยให้ผลตอบแทนของกลยุทธ์การลงทุนนั้นดีขึ้นตามความเชื่อหรือไม่ เราไปดูกันเลยครับ! 

แนวคิด “จุดขายทำกำไร” หรือ “Profit Target”

จุดขายทำกำไร หรือ Profit Target นั้นคือแนวคิดของการตั้งคำสั่งขายล่วงหน้าไว้ในระดับราคาที่ทำให้หุ้นที่เราถือนั้นมีกำไรสูงกว่าระดับที่ตั้งเอาไว้ เช่น 10-20 % เป็นต้น โดยแนวคิดนี้นั้นถูกพูดถึงในกลยุทธ์การเทรดของนักลงทุนชื่อดังมากมาย และถือว่าเป็นอีกหนึ่งใน “ความเชื่อ” ยอดนิยมที่ถ่ายทอดต่อๆกันมาในหมู่นักลงทุนทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาวได้

โดยผมจะขออนุญาตยกตัวอย่างบทความหนึ่งในนิตยสารการลงทุน Kiplinger Magazine ที่เขียนหลังจากที่หุ้นของบริษัท Apple  (NASDAQ:AAPL) เกิดการปรับฐานอย่างรุนแรงในช่วงปี 2013 ซึ่งผู้เขียน Lance Roberts CEO บริษัท Streettalk Advisors ผู้แนะนำการลงทุนมืออาชีพ ได้เขียนแนะนำไว้ว่า

“Winners take chips off the table. เมื่อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งที่เราถืออยู่นั้นมีการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายใน 1 ปี ทำให้พอร์ตโฟลิโอเรานั้นมีความเสี่ยงที่อ้างอิงกับหุ้นเพียงตัวเดียวมากขึ้น ทำให้เราควรที่จะขายทำกำไรออกไปบ้างเพื่อลดความเสี่ยง”

ซึ่งถ้าฟังดูแล้วก็เหมือนจะเป็นคำแนะนำที่สมเหตุสมผลเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามสุดยอดนักลงทุนอย่าง Warren Buffett กลับไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยหนึ่งใน Quote อมตะที่เขาได้เคยกล่าวไว้ คือ

“The advice ‘you never go broke taking a profit’ is foolish.”

ซึ่งถ้าเราย้อนกลับมาดู จริงๆแล้วความสำเร็จและสินทรัพย์ของ Berkshire Harthaway บริษัทของ Warren Buffett ที่สะสมมากว่า 50 ปี + นั้นกว่า 90% เกิดขึ้นจากการลงทุนในหุ้นเพียงไม่กี่สิบตัวเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้า Warren Buffett ขายหุ้น Coca-Cola (NYSE : KO) ที่เงินลงทุนด้วยเงิน 1.3 พันล้านดอลล่าร์ ออกไปตอนที่ได้กำไร 1 เท่าตัว เขาคงไม่ได้กลายเป็นนักลงทุนในตำนานอย่างทุกวันนี้ ที่มูลค่าหุ้น Coca-Cola ที่เขาถือไว้สูงถึง 2 หมื่น 2 พันล้านดอลล่าร์ (As of November 2019)

ซึ่งจะเห็นได้ว่าแนวคิดของการนำ Profit Target มาใช้ในกลยุทธ์การลงทุนนั้นต่างก็มีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยวันนี้ผมเลยจะมาทำการทดสอบในตลาดหุ้นไทยเพื่อคลายข้อกังขานี้ให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆนักลงทุนครับ

การทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพ

เพื่อที่จะให้ผู้อ่านได้เห็นถึงประสิทธิภาพของการเพิ่ม Profit Target เข้ามาในกลยุทธ์การลงทุนเพื่อปกป้องผลกำไรในพอร์ตโฟลิโอ ในการทดลองนี้เราจะใช้กลยุทธ์การลงทุน 10X ที่ผสมผสานแนวคิดการลงทุนในหุ้นเติบโต (Growth Stock) และหุ้นที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นอย่างแข็งแกร่ง (Trend Following) มาใช้เป็นตัวอย่างการทดสอบนี้

ในรูปด้านล่าง จะเป็นการแสดงภาพตัวอย่างสัญญาณซื้อขายของกลยุทธ์การลงทุน 10X ที่การตั้ง Profit Target ที่จะขายเมื่อ Trade มีกำไรถึงระดับที่ตั้งไว้ ซึ่งจุดขายนั้นจะถูกกำหนดขึ้นทันทีหลังที่เราซื้อหุ้น เปรียบเทียบกับการซื้อขายด้วยกลยุทธ์ 10X แบบปกติที่ไม่มีการตั้ง Profit Target

ภาพที่ 1 : แสดงตัวอย่างสัญญาณซื้อขายของกลยุทธ์การลงทุน 10X ที่มีการตั้ง Profit Target ที่ 100% เปรียบเทียบกับการขายของกลยุทธ์ 10X แบบปกติ

โดยเราจะทำการทดสอบกลยุทธ์การลงทุน 10X ที่มีการเพิ่มเติม Profit Target ในระดับตั้งแต่ 10% / 20% / 30% / 40% / 50% และ 100% มาเปรียบเทียบกับกลยุทธ์ 10X ดั้งเดิมที่ไม่มีการใส่ Profit Target เข้าไปแต่อย่างใด โดยมีรายละเอียดอื่นๆในการทดสอบดังนี้

Condition Details
Backtesting Window
  • 01/01/1997 – 31/12/2019 (รวม 23 ปี)
Backtesting Restriction
  • เงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท
  • การทดสอบนี้เป็นการทดสอบเชิงทฤษฎีโดยไม่ได้มีการรวมค่า Commission และ Slippage เข้าไปในการทดสอบ
  • ทดสอบบนฐานข้อมูล SQ Hybrid Database โดยมีการรวมเงินปันผลที่ได้รับจากการถือหุ้นนำกลับไปลงทุนใหม่ (Dividend Reinvest) ซึ่งจะได้รับเงินเข้าพอร์ตโฟลิโอภายหลังเกิด XD 50 วัน แและถูกหักภาษีปันผล 10% ทุกกรณี
Universe
  • หุ้นทั้งหมดในตลาด (AllStock)
Entry
  • เข้าซื้่อด้วยสัญญาณจากระบบการลงทุน 10X
Exit
  • ขายออกด้วยสัญญาณจากระบบการลงทุน 10X 
  • เพิ่มเติมเงื่อนไขการขายด้วย Profit Target 10% / 20% / 30% / 40% / 50% / 100%
Filters
  • กรองข้อมูลที่มีความผิดพลาดออกด้วย SQDataFilter(0)
Position Size
  • เข้าซื้อด้วย Position Sizing ของระบบการลงทุน 10X
Position Score
  • เข้าซื้อด้วย Position Score ของระบบการลงทุน 10X

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงเงื่อนไขต่างๆสำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของ Profit Target กับกลยุทธ์แบบ Trend Following โดยผู้อ่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการลงทุน 10X ได้ที่นี่

ประสิทธิภาพของ Profit Target กับกลยุทธ์ Trend Following

ภาพที่ 2 และตารางที่ 2 : ภาพและตารางแสดงผลสรุปค่าสถิติของการทดสอบประสิทธิภาพของ Profit Target

จากภาพและตารางด้านบนจะเห็นได้ว่า การนำแนวคิด Profit Target มาใช้นั้นกลับไม่ได้เพิ่มผลกำไรทบต้นในระยะยาวให้กับกลยุทธ์การลงทุนแบบ Trend Following ตาม “ความเชื่อ” ที่บอกต่อๆกันมา โดยกลยุทธ์การลงทุน 10X ที่ไม่ได้มีการใช้ Profit Target นั้นให้ผลตอบแทนทบต้นต่อปี (CAGR) ที่สูงที่สุดที่ 45.74%  โดยเราสามารถเห็นแนวโน้มได้อย่างชัดเจนว่ายิ่งมีการตั้ง Profit Target ที่แคบ (10%-30%) นั้นทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทนของระบบการลงทุนนั้นลดหลั่นลงอย่างเห็นได้ชัด และจะดีขึ้นเรื่อยๆเมื่อ Profit Target นั้นกว้างขึ้น

อย่างไรก็ตามแนวคิดการตั้ง Profit Target นั้นก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ เพราะการตั้ง Profit Target นั้นก็มีผลทำให้ค่าชี้วัดความเสี่ยงทั้ง Maximum Drawdown และ ค่าวัดความผันผวนของผลตอบแทน Standard Deviaton นั้นมีการลดลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน เนื่องจากระยะเวลาเฉลี่ยในการถือครองหุ้นนั้นลดลงอย่างมีนัยยะ

การตั้ง Stop Profit เป็นการสกัดดาวรุ่งทำให้ผลตอบแทนในภาพรวมลดลง

ภาพที่ 3 : เปรียบเทียบการกระจายตัวของผลตอบแทนในแต่ละ Trade ระหว่าง 20% Profit Target และ No Profit Target  

เมื่อเจาะเข้าไปดูการกระจายตัวของผลกำไรในแต่ละ Trade เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กลยุทธ์การลงทุน 10X แบบดั้งเดิม (No Profit Target) ซึ่งเป็นกลยุทธ์การลงทุนตามแนวโน้ม หรือ Trend Following นั้นมีลักษณะการกระจายตัวของผลตอบแทนในแต่ละ Trade แบบหางยาว (Long Tail Distribution) ซึ่งหมายความว่าผลกำไรของกลยุทธ์ส่วนใหญ่นั้นมาจากการถือหุ้นตามแนวโน้มไปเรื่อยๆจนกว่าแนวโน้มราคาจะเปลี่ยนหรือการเติบโตของบริษัทนั้นลดลง โดยจะเห็นได้จาก Trade ที่มีการกระจายตัวไปด้านขวานั้นได้กำไร ตั้งแต่ 100% – 400%

และเมื่อเปรียบเทียบกับกลยุทธ์การลงทุน 10X ที่ใช้ 20% Profit Target จะเห็นได้ว่า Trade จำนวนมากนั้นถูก “สกัดดาวรุ่ง” ขายออกไปก่อนเมื่อได้กำไรถึง 20% ซึ่งนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้ผลกำไรคาดหวังต่อหน่วยลงทุน (Expectancy) ลดลงโดยมีค่าเท่ากับ 7.08% และ 17.06% ตามลำดับ จนส่งผลกระทบให้ผลตอบแทนทบต้นต่อปีนั้นลดลงอย่างมีนัยยะนั่นเอง 

บทสรุปของประสิทธิภาพ Profit Target กับกลยุทธ์ Trend Following

จากผลการทดสอบ Backtest ในข้างต้นนั้นเราสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  1. การนำแนวคิด Profit Target มาใช้ในการรักษากำไรนั้นไม่ได้มีส่วนช่วยในการให้กลยุทธ์การลงทุนประเภทตามแนวโน้ม (Trend Following) เช่นกลยุทธ์ 10X นั้นมีผลตอบแทนทบต้นต่อปีที่สูงขึ้นดั่ง “ความเชื่อ” ที่บอกต่อๆกันมาเลย
  2. อย่างไรก็ตาม แนวคิด Profit Target นั้นกลับช่วยให้กลยุทธ์การลงทุนในการทดสอบมีค่า Maximum Drawdown และค่า Standard Deviation ที่ลดลง พร้อมๆกับผลตอบแทนทบต้นเช่นกัน
  3. ซึ่งถ้าพิจารณาจากการกระจายตัวของผลตอบแทนในแต่ละ Trade นั้นจะเห็นได้ว่าสาเหตุที่กลยุทธ์การลงทุนประเภทตามแนวโน้ม (Trend Following) เช่นกลยุทธ์ 10X นั้นมีผลตอบแทนทบต้นต่อปีที่ลดลงเมื่อใช้ Profit Target ก็เพราะว่ากลยุทธ์แบบ Trend Following นั้นมีการกระจายตัวของผลกำไรในแต่ละ Trade แบบหางยาว (Long Tail Distribution) ซึ่งทำให้กำไรส่วนมากนั้นมาจากหุ้นที่เป็นแนวโน้มขาขึ้นระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการลงทุนของ Warren Buffett ที่กล่าวไว้ในตอนต้นของบทความว่า “The advice ‘you never go broke taking a profit’ is foolish.”

สุดท้ายผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ช่วยทำให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆนักลงทุนได้เข้าใจและเห็นถึงข้อเท็จจริงของความเชื่อในการลงทุนบางอย่างที่อาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่เล่าต่อๆกันมาครับ จนกว่าจะพบกันใหม่ในบทความต่อไป ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพที่ดีปลอด Covic-19 และไม่เครียดกับการลงทุนในช่วงนี้จนเกินไปนะครับ

Write A Comment