ระบบการลงทุน

แนวคิดการลงทุนระยะสั้น “OOPS” จากหนึ่งในสุดยอดนักเก็งกำไร Larry Williams

Thanadon Praphutikul

สำหรับเพื่อนๆพี่ๆที่ติดตามบทความวิจัยกลยุทธ์การลงทุนของทาง SiamQuant บ่อยๆ จะพบว่าพวกเรามักจะนำเสนอแนวคิดหรือกลยุทธ์การลงทุนในระยะกลางถึงยาวเป็นส่วนมาก โดยในบทความนี้ ผมจะมาพูดถึงกลยุทธ์การลงทุนระยะสั้นกันบ้าง ซึ่งเป็นกลยุทธ์การลงทุนชื่อว่า “OOPS” ของ Larry Williams ที่เน้นการเก็งกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาในระยะสั้น โดยผลการทดสอบกับตลาดหุ้นไทย รวมถึงขีดจำกัดของกลยุทธ์การลงทุนที่เล่นสั้นจะเป็นเช่นไรบ้าง เราลองไปติดตามกันเลยครับ

ทำความรู้จักกับ Larry Williams

หากจะพูดถึงชื่อ Larry Williams เพื่อนๆพี่ๆหลายคนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้น แต่ถ้าพูดถึง Indicator สำหรับการวิเคราะห์เชิงเทคนิคต่างๆ เช่น Williams %R และ Accumulation/Distribution Ultimate Oscillator หลายคนอาจจะพอคุ้นเคยกันอยู่บ้าง ซึ่งจริงๆแล้ว Indicator ดังกล่าวนี้ Larry Williams เป็นผู้คิดค้นและสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ที่อยู่ในตลาดทุนมากว่า 50 ปี!

ภาพที่ 1 : ภาพ Larry Williams

นอกจากนี้ Larry Williams ยังเคยได้ฝากผลงานผลตอบแทนระดับตำนานคือ สร้างผลตอบแทนกว่า 10,000% ภายใน 1 ปีจากการ Trade Future ในการแข่งขัน World Cup Championship of Futures Trading ที่จัดโดย Robbins Trading Company ในปี 1987

Years Name % Return Competition
1987 Williams, Larry 11,376% Futures
1985 Casazzone, Ralph 1,283% Futures
1997 Williams, Michelle 1,000% Futures
2004 Sakaeda, Kurt 929% Futures
2016 Artur Teregulov 914.8% Futures

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงรายชื่อผู้ชนะในการแข่ง World Cup Trading Championships สูงสุด 5 อันดับ ในช่วงปี ค.ศ. 1984 – 2018 ( https://www.worldcupchampionships.com/standings )

จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 1984 ถึง 2018 ปีนั้น ผลตอบแทนของ Larry Williams เรียกได้ว่านำชาวบ้านแบบสุดโต่งเลยทีเดียว เพราะอันดับที่ 2 รองลงมาจาก Larry William นั้นทำผลตอบแทนได้ 1,283% ซึ่งเทียบไม่ติดกับผลตอบแทนของ Larry Williams ที่ 11,376% เลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันเค้าก็ยังคงเป็น Trader, เขียนบทความเกี่ยวกับการเทรดหุ้น รวมถึงสอน Trader รุ่นใหม่ในการเก็งกำไรระยะสั้นอีกด้วย  (www.ireallytrade.com)

ซึ่งเนื้อหาถัดจากนี้ผมจะหยิบแนวคิดการลงทุนของ Larry Williams ที่ชื่อว่า OOPS มาจากหนังสือ Long Term Secrets to Short Term Trading ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกในปี 1999 และตีพิมพ์ 2nd edition ในปี 2011 ให้ทุกคนได้ทราบกันครับ

ภาพที่ 2 : ภาพหนังสือ Long Term Secrets to Short Term Trading ของ Larry Williams

แนวคิดระบบการลงทุน OOPS ของ Larry Williams

อย่างที่ได้เกริ่นไปข้างต้นแล้วว่ากลยุทธ์การลงทุน OOPS ของ Larry Williams เป็นกลยุทธ์การเก็งกำไรระยะสั้น โดยมีพื้นฐานแนวคิดมาจากการ Overmotion หรือพฤติกรรมราคาที่ตอบสนองอย่างสุดโต่งของฝูงชนหรือรายย่อย ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างราคาเปิดวันนี้กับราคาปิดของเมื่อวานหรือที่เรียกว่า Gap โดย OOPS Pattern มีการ Set up ดังต่อไปนี้

เริ่มด้วยราคาเปิดของบาร์วันนี้ต่ำกว่าราคาปิดของวันที่แล้ว

ภาพที่ 3 : ภาพตัวอย่างสัญญาณซื้อจากหนังสือ Long Term Secret to Short Term Trading

โดยแนวคิดเบื้องหลังราคาที่มีการเปิด Gap ลง เนื่องจาก Larry Williams เชื่อว่าเทรดเดอร์ธรรมดาหรือรายย่อยทั่วไปนั้นมักจะทำการดู Pattern การเคลื่อนไหวของราคา หลังจากตลาดปิดทำการและมักทำการส่งคำสั่งซื้อ-ขายเข้ามาในวันถัดไป ซึ่งหากมีข่าวหรือปัจจัยบางอย่างในเชิงลบเข้ามากระทบในช่วงที่ตลาดปิดทำการ จะเป็นเหตุให้ในวันทำการถัดไปมักมีคำสั่งขายเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคามีการเปิด Gap ลง

อย่างไรก็ตาม ในตลาดยังมีผู้เล่นอีกกลุ่มที่มีความชำนาญในการวิเคราะห์ผลกระทบของข่าวสารมากกว่าและไม่ได้ตื่นตระหนกกับปัจจัยเชิงลบต่างๆเหมือนกับนักลงทุนรายย่อย ดังนั้นเมื่อเห็นความผิดปกติของราคาที่ฝูงชนพร้อมใจกันตื่นตระหนกกดให้ราคาเปิด Gap ร่วงลงไป คนกลุ่มนี้จึงเห็นจังหวะได้ของถูก และทำการไล่ซื้อจนราคานั้นกลับขึ้นมาที่จุดเดิม

ซึ่งคำว่า OOPS นั้นแท้จริงย่อมาจาก “Oops! We may have done the wrong thing [again], price is coming back pretty strong. Do you want to stay short?” เราจึงสรุปเงื่อนไข OOPS Set up สำหรับการเข้าช้อนซื้อหุ้นไว้ดังนี้

  • ราคามีการเปิด Gap โดดลง ดูจากราคาเปิดวันนี้ต่ำกว่าราคาปิดเมื่อวาน
  • ราคามีการวิ่งขึ้นหลังจากเปิดลง ดูจากราคาสูงสุดของวันมากกว่าราคาปิดเมื่อวาน

โดยทั้งสองเงื่อนไขนี้เป็น OOPS Set up สำหรับการเข้าซื้อที่ถูกนิยามไว้ในหนังสือ Long Term Secret to Short Term Trading ของ Larry Williams  โดยส่วนของสัญญาณขายก็จะมีรูปแบบการ Set Up ที่ตรงกันข้ามกันและอยู่บนพื้นฐานความเชื่อเดียวกัน

Larry Williams Exit Rules

หลังจากเราทราบ OOPS Set up สำหรับสัญญาณเข้าซื้อกันแล้ว ในส่วนนี้จะพูดถึงเงื่อนไขในการขายหรือ Exit กันบ้าง โดยเงื่อนไขในการขายของ Larry Williams มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ คือ

  1. มีการตั้ง Dollar Stop ในทุกเหตุการณ์ เนื่องจากการจะเป็นนักเก็งกำไรที่สำเร็จ เราต้องมีการ Stop Loss
  2. ใช้เทคนิคการ “Bailout” ซึ่งเป็นเทคนิคที่ Larry Williams ร่วมกันพัฒนาขึ้นมากับ Ralph Vince กฏง่ายๆของเขาคือ ออกเลยเมื่อมีกำไรครั้งแรกเกิดขึ้น แม้ว่าจะกำไรเพียง 1 Tick ก็ตาม! อย่างไรก็ดีในบางกรณี Larry Williams จะยืดเวลาการถือหุ้นออกออกไปหนึ่งถึงสองวัน
  3. เมื่อเกิดสัญญาณในด้านตรงข้าม เช่น หลังจากถือ Long Positions แล้วเกิดสัญญาณ Short Signal มาให้ขายทันที

โดยสรุปเป็นเงื่อนไขสำหรับการขายได้ดังนี้

  • หากราคาหลุดราคาต่ำสุดของวันที่ซื้อจะทำการขายทันทีในวันถัดไป
  • หากวันใดมีกำไรจะทำการขายออกทันทีในวันถัดไป
  • เมื่อเกิดสัญญาณฝั่งตรงข้าม จะทำการขายทันที

และนี่คือทั้งหมดเกี่ยวกับเงื่อนไขการ Exit ของ Larry Williams ซึ่งสิ่งที่เขาเน้นย้ำไว้คือ “Let the rules, not emotions, take care of your trades” คือให้ทำตามกฎที่ตั้งเอาไว้ โดยอย่าใช้อารมณ์ และใส่ใจในทุกการเทรดของคุณ

ภาพตัวอย่างสัญญาณซื้อและขายจากระบบ OOPS

ภาพที่ 4 : ภาพแสดงสัญญาณสัญญาณการเข้าซื้อและขายตามกลยุทธ์การลงทุน OOPS

หลังจากที่เราทราบเงื่อนไขของ OOPS Signal แล้วในส่วนนี้จะทำการกำหนดเงื่อนไขต่างๆสำหรับการทดสอบซึ่งมีดังนี้

Condition Details
Backtesting Window
  • 01/01/2009 – 01/01/2019
Backtesting Restriction
  • เงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท
  • อัตราค่า Commission 0.15% (รวมซื้อขาย 0.3%)
  • Slippage  1% ทั้งการซื้อและขาย
  • Long Only
Universe
  • All Stocks หุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์
Entry
  • OOPs Entry Signals
Exit
  • OOPs Sell Signals
Filters
  • กรองข้อมูลที่มีความผิดพลาดออกด้วย SQDataFilter(0)
  • ค่าเฉลี่ยมูลค่าการซื้อขายของหุ้นย้อนหลัง 1 ปี ต้องมีค่ามากกว่า 1,000,000 บาท
Position Size
  • ขนาดการลงทุนต่อตัวคือ 5% ของมูลค่าพอร์ตโฟลิโอ
Position Score
  • อัตราส่วนระหว่าง Low ของวันที่แล้วเทียบกับ Open ของวันนี้

ตารางที่ 2 : ตารางแสดงเงื่อนไขต่างๆสำหรับการทดสอบกลยุทธ์การลงทุน OOPS

ผลลัพธ์การทดสอบ OOPS Strategy

ภาพที่ 5 : ภาพแสดงการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอระหว่างกลยุทธ์การลงทุน OOPS (เส้นสีเขียว) เทียบกับดัชนี SET Index (เส้นสีดำ)

Portfolio Metrics OOPS SET Index
Net Profit -98.22% 226.7%
CAGR -33.22% 12.57%
MaxDD -98.22% -25.48%
Longest DD (Month) 121.95 52.65
CAR/MDD -0.34 0.15
Trade Metrics OOPS SET Index
No. of All Trade 4,504
Avg. Bar Held 3.05
% Win 17.05%
Avg. Profit/Loss % -1.98%
Max Consecutive Loss 77

ตารางที่ 3 : ตารางแสดงค่าสถิติจากการทดสอบกลยุทธ์การลงทุน OOPS

จากผลการทดสอบจะเห็นได้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนด้วยกลยุทธ์การลงทุน OOPS ภายในระยะเวลา 10 ปี คุณแทบจะไม่เหลือเงินเลยสักบาท!! เนื่องจากธรรมชาติของกลยุทธ์การลงทุนที่เป็นการเก็งกำไรระยะสั้นจะมีกำไรต่อครั้งที่ค่อนข้างน้อย ทำให้ไม่สามารถรองรับกับต้นทุนในการซื้อขาย เช่น ค่าคอมมิสชั่น (Commission), สลิปเพจ (Slippage) และอื่นๆได้ ซึ่งจะสังเกตได้จากค่า Avg Profit/Loss (%) หรือค่า Expectancy ที่ติดลบถึง -1.98% !!

ประกอบกับการที่กลยุทธ์มีสัญญาณการเข้าซื้อ-ขายมากถึง 4,540 ครั้งในช่วงระยะเวลาการทดสอบ (เฉลี่ยแล้ว Trade วันละประมาณ 2 ครั้ง) ซึ่งการเข้าซื้อขายบ่อยๆนี้เปรียบเสมือนเป็นตัวเร่งที่ทำให้พอร์ตขาดทุนเร็วขึ้นนั่นเอง และเพื่อที่จะยืนยันข้อสันนิษฐานดังกล่าว ในส่วนถัดไปนี้ ผมจะทำการทดสอบโดยตัดผลกระทบจากอัตราค่าคอมมิสชั่นและสลิปเพจให้เพื่อนๆพี่ๆทุกคนได้ดูกันครับ

ผลกระทบของค่าคอมมิสชั่น และสลิปเพจต่อระบบเทรดสั้น

ภาพที่ 6 : ภาพแสดงการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอระหว่างกลยุทธ์การลงทุน OOPS (เส้นสีเขียว), ไม่มีค่าคอมมิสชั่นและสลิปเพจ (เส้นสีน้ำเงิน), มีแค่ค่าคอมมิสชั่น (เส้นสีแดง), มีแค่สลิปเพจ (เส้นสีส้ม) & ดัชนี SET Index (เส้นสีดำ)

Portfolio Metrics OOPS without Commission & Slippage OOPS without Slippage OOPS without Commission OOPS SET Index
Net Profit 103.62% -38.16% -97.77% -98.22% 226.7%
CAGR 7.38% -4.7% -31.68% -33.22% 12.57%
MaxDD -17.96% -46.62% -97.77% -98.22% -25.48%
Longest DD (Month) 19.65 112.85 121.95 121.95 52.65
CAR/MDD 0.41 -0.1 -0.32 -0.34 0.15
Trade Metrics OOPS without Commission & Slippage OOPS without Slippage OOPS without Commission OOPS SET Index
No. of All Trade 8,620 8,429 4,931 4,504
Avg. Bar Held 2.84 2.85 3.01 3.05
% Win 36.44% 36.26% 18.62% 17.05%
Avg. Profit/Loss % 0.16% -0.13% -1.69% -1.98%
Max Consecutive Loss 43 43 76 77

ตารางที่ 4 : ตารางแสดงค่าสถิติจากการทดสอบกลยุทธ์การลงทุน OOPS

จากผลการทดสอบข้างต้นพบว่า หากเราทำการตัดผลกระทบทั้งค่าคอมมิสชั่นและสลิปเพจออกไปนั้น ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยทบต้นต่อปีพลิกกลับมาจากติดลบ -33.22% กลายเป็น +7.38% ซึ่งหากพิจารณาค่า Avg Profit/Loss (%) จะพบว่ามีค่าอยู่ที่ 0.16% ก่อนหักค่าคอมมิสชั่นและสลิปเพจ

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ เมื่อทำการทดลองรวมค่าคอมมิสชั่นเข้าไปเพียงอย่างเดียว (0.30% ไปกลับ) ก็สามารถทำให้ระบบการลงทุนนั้นขาดทุนทันที และยิ่งหากมีการเพิ่มค่าสลิปเพจเข้าไปด้วยจะยิ่งทำให้ผลตอบแทนติดลบไปกันใหญ่ ดังนั้นนี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเราจึงเน้นย้ำอยู่ตลอดเวลาในเรื่องของการสร้างระบบการลงทุนที่มีค่า Avg. Profit/Loss % หรือค่า Expectancy ที่เป็นบวก เพราะจะช่วยให้กลยุทธ์สามารถทนทานกับต้นทุนต่างๆได้ โดยกลยุทธ์ไม่พังไปเสียก่อนนั่นเอง

สรุปเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุน OOPS

และท้ายที่สุดนี้ สิ่งสำคัญที่ผมอยากฝากไว้กับพี่ๆเพื่อนๆนักลงทุนชาว Quant ทุกคนคือ การให้ความสำคัญของค่ากำไรคาดหวังต่อไม้ (Avg Profit/Loss) ของระบบการลงทุนของคุณ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการลงทุนระยะสั้น เพราะเนื่องด้วยข้อจำกัดต่างๆเช่น สลิปเพจและคอมมิสชั่น จากการลงทุนสั้นๆระบบการลงทุนที่มีค่ากำไรคาดหวังต่อไม้ (Avg Profit/Loss) ต่ำนั้นมักไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวครับ

ซึ่ง ทีมงาน SiamQuant หวังว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ และช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนากลยุทธ์การลงทุนของเพื่อนๆพี่ๆนักลงทุนครับ

Reference:

Larry Williams I Really Trade

Long-Term Secrets to Short-Term Trading

Write A Comment