- ลงทุนหุ้นใหญ่ดีจริงหรือไม่? - February 20, 2022
- รีวิวผลตอบแทน 40 กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยของเดือนมกราคมปี ค.ศ. 2022 - February 7, 2022
- รีวิวผลตอบแทน 40 กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยปี ค.ศ. 2021 - January 5, 2022
แนวคิดการลงทุนแบบ Techno-Fundamental คือแนวคิดที่ทำให้ Nicholas Darvas ประสบความสำเร็จจนสามารถสร้างพอร์ตที่เติบโตจนมีมูลค่ากว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐจากเงินทุนเพียงเล็กน้อย และได้กลายมาเป็นรากฐานของกลยุทธ์ประเภท Hybrid Investing เช่น CANSLIM ในเวลาต่อมา
ในบทความนี้ ผมจะพูดถึงแนวคิดการลงทุนของ Nicolas Darvas รวมถึงนำแนวคิดดังกล่าวมาทดสอบกับตลาดหุ้นไทยเพื่อให้เพื่อนๆพี่น้องนักลงทุนได้เห็นถึงประสิทธิภาพกัน โดยผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการลงทุนอย่างเป็นระบบให้กับเพื่อนๆพี่น้องนักลงทุนทุกท่านครับ ^^
หมายเหตุ : สำหรับสมาชิก AlphaSuite นั้น กลยุทธ์การลงทุน Nicolas Darvas นี้จะถูกรวมเข้าไปใน SQ Systems สำหรับการอัพเดทเวอร์ชั่นล่าสุดนะครับ
Nicolas Darvas ผู้จุดกระแสการลงทุนเชิง Techno-Fundamental
ถ้าพูดถึงการลงทุนเชิง Hybrid Investing นั้น หลายๆคนคงจะนึกถึงกลยุทธ์การลงทุนชื่อดังอย่าง CANSLIM ของ William J. O’Neil แต่ในความเป็นจริงแล้วกลยุทธ์ CANSLIM นั้นเกิดขึ้นมาจากการต่อยอดแนวคิดการลงทุนของคุณ Nicolas Darvas นี่เอง
ซึ่งด้วยแนวคิดการลงทุนดังกล่าวนี้ทำให้ Nicolas Darvas ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในตลาดหุ้น กล่าวคือ เขาสามารถสร้างผลตอบแทนที่ทำให้พอร์ตของเขานั้นมีมูลค่ากว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐจากเงินทุนเริ่มต้นที่ไม่ถึงหนึ่งแสนเหรียญสหรัฐ โดย Nicolas Darvas ได้ถ่ายทอดแนวคิดการลงทุนของเขาลงบนหนังสือที่มีชื่อว่า “How I Made $2,000,000 in the Stock Market” ในปี 1960
ภาพที่ 1 : ภาพหนังสือ How I Made $2,000,000 In The Stock Market ของ Nicolas Darvas
แนวคิดการลงทุนของ Nicolas Darvas
สำหรับแนวคิดการลงทุนของ Darvas นั้น Darvas จะจับจังหวะการเข้าลงทุนเมื่อราคาที่มีการเคลื่อนไหวทะลุกรอบราคาเดิมขึ้นไปอย่างรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น ปกติราคาหุ้นตัวหนึ่งมักจะมีการซื้อขายอยู่ในช่วง 1 ถึง 1.2 บาท แล้วจู่ๆวันนึงราคาได้ทำการเบรคทะลุกรอบและไปเล่นบนกรอบที่สูงกว่าเดิม เช่น 1.2 – 1.4 บาท ซึ่ง Darvas พบว่าหากพฤติกรรมหุ้นมีการขยับไปเล่นบนกรอบที่สูงกว่านั้น หุ้นตัวนั้นจะมีโอกาสสูงที่จะขึ้นต่อจนเกิดเป็นทฤษฎี Darvas Box ดังภาพ !!
ภาพที่ 2 : ภาพแสดงการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นตามแนวคิดของ Darvas
ซึ่งในช่วงแรกๆนั้น Darvas พยายามจะมองหาหุ้นที่ราคาได้ขยับขึ้นไปจนใกล้จุดสูงสุดหรือ All Time High (ATH) ของตัวมันเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อระยะเวลาผ่านไปและแนวโน้มของตลาดได้เปลี่ยนจากภาวะขาขึ้น (Bullish) เป็นภาวะตลาดขาลง (Bearish) ดังนั้นการจะหาหุ้นที่ราคาใกล้ ATH จึงเป็นไปได้ยาก Darvas จึงยอมผ่อนปรนเงื่อนไขเป็นราคาหุ้นจะต้องอยู่ใกล้ๆกับ 52 Weeks High แทน
อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องจังหวะการเข้าลงทุนแล้ว Darvas ยังได้พิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) ของตัวกิจการอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เค้าให้ความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การเติบโตของกิจการ (Earning Growth) เพราะ Darvas ค้นพบว่าราคาหุ้นมักจะเคลื่อนไหวไปตามการเติบโตของกิจการนั่นเอง !!
ภาพที่ 3 : ภาพ Nicolas Darvas
โดยเราสามารถสรุปเป็นกฎการลงทุนของ Nicolas Darvas จากหนังสือทั้ง 2 เล่มของเขาซึ่งก็คือ How I Made $2,000,000 in the Stock Market, Wall Street: The Other Las Vegas ได้ดังนี้
- หุ้นมีการทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 1 ปี (250 วัน)
- มีปริมาณการซื้อขาย (Volume) เข้ามา Support การเคลื่อนไหวของราคา โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าของค่าเฉลี่ยของปริมาณการซื้อขายในรอบ 1 เดือน (20 วัน)
- อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาด วัดโดยอัตราการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มอุตสาหกรรมของหุ้นตัวนั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าดัชนี SET Index ในรอบ 1 ปี
- มีกำไรเติบโต วัดโดยการเติบโต QoQ ของ EPS Rolling (Adjusted) มีค่าเป็นบวก
- เป็นหุ้นขนาดกลางหรือขนาดเล็ก โดยในกรณีนี้เราจะวัดโดยหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มดัชนี SET100
และสำหรับการขายนั้นเราจะขายเมื่อหลุดกรอบล่างของกล่อง Darvas Box หรือเทียบเคียงได้ด้วยการที่ราคาหุ้นทำจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 1 เดือนหรือ 20 วันทำการ โดยมีภาพตัวอย่างสัญญาณการเข้าซื้อขายดังนี้
หมายเหตุ : ตัวเลข Lowest Low 20 วันทำการเป็นเพียง Parameter ที่เรานำมาใช้แบบ Default เนื่องจากเป็นตัวเลข Parameter ที่นักลงทุนหลายคนชอบใช้ นักลงทุนยังสามารถปรับเปลี่ยน Parameter หรือลักษณะของจุดขายในรูปแบบอื่นๆและยังคงให้ผลดีได้เช่นเดียวกันครับ)
ภาพที่ 4 : ภาพแสดงสัญญาณการซื้อขายตามแนวคิดของระบบการลงทุน Darvas
จากภาพข้างต้นซึ่งเป็นภาพแสดงสัญญาณการเข้าซื้อขายควบคู่ไปกับข้อมูล EPS Rolling (Adjusted) หรือผลรวมของกำไรในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง (แบบปรับพาร์แล้ว) โดยจะสังเกตได้ว่าก่อนที่ระบบจะมีสัญญาณการทะลุกรอบด้านบนนั้น ผลกำไรได้เติบโตได้นำราคาไปก่อนหน้าแล้ว โดยต่อมาราคาของหุ้นก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกับกำไรที่เติบโตขึ้นในแต่ละไตรมาส
โดยสิ่งนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ Darvas สังเกตและค้นพบว่า ราคาหุ้นมักจะมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของกิจการนั่นเอง ซึ่งในส่วนถัดไปนั้นเราจะมาทำการทดสอบความมีประสิทธิภาพของแนวคิดดังกล่าวกันครับ
รายละเอียดการทดสอบ
สำหรับรายละเอียดการทดสอบระบบการลงทุนนั้น เราได้ทดสอบในระดับความเข้มงวดของนักลงทุนส่วนบุคคล โดยได้มีการรวมอัตราค่าคอมมิสชั่น (Commission) รวมถึงค่าสลิปเพจ (Slippage) หรือความคลาดเคลื่อนการเข้าซื้อขายจากราคาที่กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตารางที่ 1 : ตารางแสดงเงื่อนไขสำหรับการทดสอบระบบการลงทุนของ Nicolas Darvas
ผลลัพธ์การทดสอบ
ผลลัพธ์การทดสอบหลักการของระบบการลงทุนของ Nicolas Darvas กับตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปัจจุบัน (30/04/2020) รวมระยะเวลากว่า 20 ปีมีผลลัพธ์ดังนี้
ภาพที่ 5 : ภาพแสดงผลตอบแทนของระบบการลงทุนของ Nicolas Darvas (เส้นสีเขียว) เปรียบเทียบกับดัชนี SET Index (เส้นสีดำ)
ตารางที่ 2 : ตารางแสดงค่าสถิติของระบบการลงทุนของ Nicolas Darvas และดัชนี SET Index
จากภาพและตารางข้างต้นจะสังเกตได้ว่าระบบการลงทุนของ Nicolas Darvas ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยทบต้นต่อปีที่สูงถึง 33.79% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ดัชนี SET Index ให้ผลตอบแทนเท่ากับ 5.11% ต่อปี หรือกลยุทธ์การลงทุน Darvas มีผลตอบแทนส่วนเกินเท่ากับ 28.68%
และสำหรับในด้านของความเสี่ยงวัดโดย Maximum Drawdown นั้นมีค่าที่น้อยกว่าตลาดด้วย โดยมีค่าเท่ากับ -32.55% และ -58.02% ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงภาวะที่ตลาดไม่เอื้ออำนวยนั้น กลยุทธ์จะทยอยลดสัดส่วนการลงทุนเพื่อเป็นการปกป้องความเสี่ยงนั่นเอง
เปรียบเทียบ Techno-Fundamental กับ Pure Technical
นอกจากนี้เพื่อให้เพื่อนๆได้เห็นถึงประสิทธิภาพของแนวคิด Techno-Fundamental นั้นเราจึงทำการทดสอบกลยุททธ์การเบรคเอาท์ 52 Weeks High ซึ่งถือเป็นแกนหลักในเชิง Technical Signal จาก ระบบการลงทุนของ Darvas โดยทำการถอดตัวแปรทางด้าน Fundamental ออกทั้งหมด เพื่อให้เห็นถึงพลังและประสิทธิภาพของการใช้ตัวแปร Fundamental ที่ได้เข้ามาประสานกัน
ภาพที่ 6 : ภาพแสดงผลตอบแทนของระบบการลงทุนของ Nicolas Darvas (เส้นสีเขียว) เปรียบเทียบกับผลตอบแทนของระบบ 52 Weeks High Breakout (เส้นสีดำ)
ตารางที่ 3 : ตารางแสดงค่าสถิติของระบบการลงทุนของ Nicolas Darvas และระบบ 52 Weeks High Breakout
จากภาพและตารางข้างต้นนั้นพบว่า การเพิ่มปัจจัยด้าน Fundamental ของ Darvas เข้ามานั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนโดยเฉลี่ยทบต้นต่อปีจาก 24.79% เป็น 33.79% แล้วยังลด Maximum Drawown ลงจาก -70.42% เหลือเพียง -32.55% อีกด้วย
โดยประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ในช่วงแรกๆจะสังเกตว่าผลตอบแทนของ Darvas และระบบเบรคเอาท์ 52 Weeks High นั้นใกล้เคียงกันมาตลอด แต่ตั้งแต่ช่วงหลังปี 2012 เป็นต้นมา ประสิทธิภาพจากการใช้ Technical Breakout เพียงอย่างเดียวนั้นเริ่มมีการถดถอยลง เพราะการพิจารณาแต่ราคาของหุ้นอย่างเดียวนั้น ในหลายๆครั้งแม้หุ้นที่ทำจุดสูงสุดใหม่ก็จริง แต่ขาดปัจจัยพื้นฐานที่มารองรับการเพิ่มขึ้นของราคา ทำให้สุดท้ายแล้วหุ้นเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะ “ไปต่อ” และสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตโฟลิโอเติบโตขึ้นได้อย่างมีนัยยะนั่นเอง!
บทสรุประบบการลงทุน Nicolas Darvas
จากผลการทดสอบเชิงสถิติในระดับความเข้มงวดที่รวมการคัดกรองสภาพคล่องและสลิปเพจนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่า กลยุทธ์การลงทุนของ Nicolas Darvas นั้นสามารถสร้างผลตอบที่ชนะตลาดได้อย่างยาวนานและมีนัยยะสำคัญ นอกจากนี้แล้วการประยุกต์ใช้ตัวแปรทาง Technical และ Fundamental มาผสมผสานกันนั้น นอกจากจะช่วยให้ผลตอบแทนในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอไดอีกด้วย!
ผมเองหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์และทำให้เพื่อนๆพี่น้องนักลงทุนสามารถนำแนวคิดไปพัฒนาต่อยอดกลยุทธ์การลงทุนเดิม หรือการนำไปประยุกต์ใช้สร้างกลยุทธการลงทุนใหม่ๆกันนะครับ ซึ่งหากใครที่สนใจฐานข้อมูลราคาหุ้นและข้อมูลพื้นฐานจากงบการเงินแบบ Time-Series ดังที่เราใช้ในการวิจัยและทดสอบนี้ก็สามารถคลิ้กที่ SiamQuant AlphaSuite เพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้เลยครับ แล้วพบกันใหม่บทความหน้า ขอบคุณครับ ^^