- ทำไมปี 2023 จึงยังคงเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย? - December 25, 2023
- 5 ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยๆในการวิเคราะห์ผลการลงทุน - September 13, 2020
- พิสูจน์ความอันตรายของการเก็งกำไรระยะสั้นด้วยทฤษฎี Risk of Ruin - July 19, 2020
ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา ในช่วงที่เชื้อไวรัส Covid-19 เริ่มมีการระบาดใหม่ๆในไทย ผมเชื่อว่าเพื่อนๆพี่ๆน้องนักลงทุนหลายๆท่านน่าจะได้เห็นกระแสของ “ประกัน Covid” ซึ่งเป็นผลิตภันฑ์ทางการเงินที่ได้รับความสนใจจากประชาชนชาวไทยอย่างล้นหลาม เช่น “จ่ายค่าประกันแค่ 500 บาทแต่ถ้าตรวจะบว่าเราติดเชื้อประกันจะจ่ายให้เราเป็นหลักแสน?” ซึ่งแม้ว่าดูเผินๆเหมือนบริษัทจะขาดทุน แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะบริษัทมีความได้เปรียบบางอย่าง!!
โดยบทความในวันนี้ผมจะมาเล่าให้เพื่อนๆฟังถึง “ความเหมือนที่แตกต่าง” ของแนวคิดการลงทุนอย่างเป็นระบบ และธุรกิจประกันภัย ซึ่งผมหวังว่าข้อสังเกตนี้จะช่วยให้ผู้ที่สนใจเริ่มต้นลงทุนอย่างเป็นระบบได้เข้าใจและพัฒนาทัศนะคติที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในแนวทางการลงทุนอย่างเป็นระบบครับ
Disclaimer : บทความนี้ผู้เขียนต้องการอธิบายให้ผู้อ่านได้เห็นภาพของวิเคราะห์การลงทุนที่พิจารณาความเป็นไปได้ทางสถิติ (Probability) ผ่านการยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกัน โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะชี้นำหรือชักชวนให้ผู้อ่านซื้อผลิตภัณฑ์ประกันใดๆ
ความได้เปรียบทางสถิติที่บริษัทประกันอาจไม่เคยบอกคุณ
สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นสาเหตุหลักๆให้บริษัทประกันต่างๆนั้นหันมาทำประกัน Covid-19 นอกเหนือไปจากการมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ของลูกค้าในการป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อคือ “ความได้เปรียบทางสถิติ” นั่นเอง
โดยข้อมูลที่ใช้การประมวลค่าสถิติเหล่านี้นั้น ต่างก็มาจากตัวเลขทางสถิติที่อ้างอิงจากกรณีโรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เช่น ในกรณีของ ไข้หวัดสเปนในปี 1918, ไข้หวัดนก, MERS และโรคระบาดต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา ทั้งอัตราการติดเชื้อต่อประชากรทั้งหมด, อัตราการเสียชีวิตในทั้ง Base Case และ Worst Case รวมถึงข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่รวบรวมโดยหน่วยงานทางการแพทย์
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะมีปัจจัยขับเคลื่อนที่แตกต่างจากโรคระบาดในอดีตเป็นอย่างมาก แต่อย่างน้อยหลักการวิเคราะห์ทางสถิติเหล่านี้จะช่วยเป็นเหมือนหลักนำทางให้ผู้รับผิดชอบบริหารสถานการณ์สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจได้ ยกตัวอย่างเช่น การนำข้อมูลทางสถิติไปสร้างแบบจำลองการระบาดโดยนักระบาดวิทยาที่เราได้เห็นกันในช่วงแรกๆของการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19
ซึ่งหลังจากที่บริษัทประกันทราบความเป็นไปได้ทางสถิติของการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในกรณี Worst Case Scenario แล้ว แต่ละบริษัทก็จะมีการใช้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยในการคำนวน “ระดับความเสี่ยง” ที่แต่ละบริษัทรับประกันได้ โดยพิจารณาจากเงินที่อยู่ใน “กองทุน” ของบริษัท รวมถึงพิจารณาไปถึง “จุดคุ้มทุน” และจำนวนกรรมธรรม์สูงสุดที่เงินกองทุนของบริษัทนั้นสามารถรับประกันได้ในกรณี Worst Case Scenario
จะเห็นได้ว่า ก่อนที่บริษัทประกันจะออกผลิตภัณฑ์ใดๆออกมานั้น เขาได้รับรู้ Risk/Reward ของแผนการการลงทุน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติซึ่งประเมินถึงทั้ง Worst Case และ Best Case Scenario อย่างถี่ถ้วนเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งถ้าใครที่พอจะติดตามเรื่องนี้อยู่จะเห็นได้ว่า เบี้ยประกันและสินไหมชดเชยนั้นจริงๆแล้วมีการเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงแรกที่มีการออกผลิตภัณฑ์มาใหม่ๆไปพอสมควร โดยสิทธิประโยช์นที่ผู้ประกันตนได้รับนั้นมีมูลค่าที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเบี้ยประกันที่ผู้ซื้อต้องจ่ายเท่าเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการควบคุมความเสี่ยงของทางบริษัทประกัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ (Dynamic) ไปตามข้อมูลการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 นั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงที่ผ่านมา มีบางบริษัทประกันยังได้มีการเลิกขายผลิตภัณฑ์ประเภท “ตรวจพบเชื้อรับเงินก้อน” ด้วย เนื่องจากพบความเสี่ยงเพิ่มเติมจากกรณีที่ผู้ประกันตนอาจมีแผน “ตั้งใจให้ตัวเองติดเชื้อ”เพื่อเอาเงินชดเชยอีกด้วย (Ref: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ) ซึ่งการปรับกลยุทธ์การลงทุนไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนั้น ถือว่ามีความคล้ายคลึงกับพฤติกรรมของนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นอย่างเราๆท่านๆเป็นอย่างมาก
ความเหมือนที่แตกต่างกับการลงทุนอย่างเป็นระบบ
จะเห็นได้ว่าการดำเนินกิจการของบริษัทประกันที่อยู่ในรูปแบบของการออกผลิตภัณฑ์หรือกรมธรรม์ต่างๆมาให้เราๆท่านๆได้เลือกซื้อกันนั้น จริงๆแล้วได้ถูกวิเคราะห์ผ่านกระบวนการที่ใช้ข้อมูลตัวเลขและทางสถิติ แทบไม่ต่างอะไรเลยกับแนวคิดของการลงทุนอย่างเป็นระบบ โดยผมได้สรุปข้อสังเกตุที่เรียกได้ว่าเป็นความเหมือนที่แตกต่าง ดังนี้
- มีการใช้ข้อมูลเชิงสถิติในการคาดเดากรอบความน่าจะเป็น (Probability) ของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในการคาดการณ์ผลตอบแทน, ความเสี่ยง รวมถึงการเลือกกลยุทธ์ที่จะใช้
- มีการใช้หลักคณิตศาสตร์และสถิติในการประเมินความเสี่ยงกรณี Worst Case Scenario ไว้ก่อนที่จะเริ่มโครงการหรือการลงทุน โดยมีการควบคุมและปรับระดับความเสี่ยงให้คงอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ (Risk Management)
- มีการใช้ข้อมูลตัวเลขในการตัดสินใจที่ชัดเจน ปราศจากอคติที่มาจากความโลภหรือความกลัว
และนอกจากนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมากของการลงทุนอย่างเป็นระบบและธุรกิจประกันภัยที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากๆนั้นก็คือ การที่ทั้ง 2 กิจกรรมนั้นต่างก็ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความแม่นยำ (Accuracy) ในการคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเลย (Prediction) แต่กลับเป็นการเลือกกลยุทธ์ลงทุนอย่างชาญฉลาดในเกมที่เรามีความได้เปรียบทางสถิติมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น
กรณีของบริษัทประกัน : มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะไม่มีลูกค้าคนไหนมาเคลมสินไหมทดแทนเลย แต่กำไรของธุรกิจประกันนั้นเกิดจากส่วนต่างของจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเพื่อเคลมสินไหมนั้นน้อยกว่าจำนวนเบี้ยประกันที่ได้รับมาทั้งหมดต่างหาก
กรณีของการลงทุนอย่างเป็นระบบ : มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่นักลงทุนจะได้กำไรในทุกๆครั้งที่ทำการซื้อขาย โดยผลตอบแทนที่ดีนั้นจริงๆแล้วมาจากวินัยและความสม่ำเสมอในการปฏิบัติตามกลยุทธ์การลงทุนที่มี Risk/Reward ที่ดีต่างหาก
ซึ่งถ้าเพื่อนๆอ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้วการลงทุนอย่างเป็นระบบนั้น คือแนวทางการบริหารเงินทุนที่ไม่ได้ถูกนำใช้เพียงแค่กับการลงทุนในตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางที่มีความใกล้เคียงกับการบริหารเงินทุนของกลุ่มธุรกิจประกันด้วยเช่นกัน
โดยผมจะขออนุญาตแชร์คำพูดของ Jim Simons ผู้ก่อตั้ง Renaissance Technologies และผู้นำของแนวคิดกลยุทธ์การลงทุนประเภท High Frequency Trading (HFT) ที่ก็สร้างมาจากการวิจัยทางสถิติเช่นกันครับ
ลงทุนอย่างเป็นระบบให้ประสบความสำเร็จ
โดยประเด็นสำคัญที่ถือเป็นกุญแจหลัก ที่จะทำให้การลงทุนอย่างเป็นระบบนั้นประสบความสำเร็จด้วยหลักการเดียวกันกับธุรกิจประกันภัย คือ
- รู้และมีความเข้าใจในพฤติกรรมและความน่าจะเป็น (Probability) ของกลยุทธ์การลงทุน หรือระบบการลงทุนที่เรานำมาใช้
- มีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะในกรณี Worst Case Scenario ก่อนที่จะเริ่มลงทุน เพื่อเสริมสร้างจิตวิทยาการลงทุนที่แข็งแกร่ง
- เข้าใจหลักการทางสถิติและมีวินัยมากพอที่จะ “รอ” ให้ค่าสถิตินั้นได้แสดงพลังของมันออกมา
โดยผมมั่นใจว่าถ้านักลงทุนท่านไหนสามารถที่จะ “บรรลุ” เคล็ดวิชาที่ผมได้เล่าให้ฟังเหล่านี้ ความสำเร็จในการลงทุนอย่างเป็นระบบนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอนครับ ผมหวังว่าผู้อ่านทุกคนจะได้รับความรู้ที่มีประโยชน์จากบทความนี้กันนะครับ