- ทำไมปี 2023 จึงยังคงเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย? - December 25, 2023
- 5 ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยๆในการวิเคราะห์ผลการลงทุน - September 13, 2020
- พิสูจน์ความอันตรายของการเก็งกำไรระยะสั้นด้วยทฤษฎี Risk of Ruin - July 19, 2020
สูตรมหัศจรรย์ Magic Formula ของ Joel Greenblatt นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่!! ถึงแม้พวกมันถูกเผยแพร่ให้กับนักลงทุนในไทยโดยคุณมดแมงเม่าคลับมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังมีผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยที่โดดเด่นและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
บทความนี้จะเป็นการ Update ผลการทดสอบระบบการลงทุน Magic Formula จนถึงช่วงวิกฤติ Covid-19 ในช่วงต้นปี 2020 ด้วย ซึ่งระบบการลงทุน Magic Formula นั้นก็เป็นหนึ่งในระบบการลงทุนกว่า 30+ ระบบที่พวกเรารวบรวมมาให้ในชุดโค้ดสำเร็จรูปและฐานข้อมูลราคาและปัจจัยพื้นฐาน SiamQuant AlphaSuite ครับ
ระบบการลงทุน ไม่ได้จำกัดอยู่กับ Technical Analysis เพียงอย่างเดียว
เมื่อได้ยินคำว่า “ระบบการลงทุน” เพื่อนๆหลายๆคนอาจจะเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของการใช้เครื่องมือทางเทคนิคเท่านั้น (Technical Analysis) แต่ความเป็นจริงแล้วระบบการลงทุนคือ การสร้างกฎในการลงทุน ที่เป็นเงื่อนไขต่างๆอย่างชัดเจน โดยเงื่อนไขเหล่านั้นต้องผ่านขั้นตอนในการค้นคว้าวิจัย การทดสอบทางสถิติอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถตรวจสอบและวัดผลได้
ดังนั้นเมื่อระบบการลงทุนไม่ได้ถูกตีกรอบแค่เรื่องของการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค เราจึงสามารถที่จะนำเครื่องมือการวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน (Fundamental Analysis) มาสร้างเป็นระบบการลงทุนได้เช่นกัน!
ในวันนี้เราจึงตัดสินใจหยิบหนึ่งในแนวคิดการลงทุนที่ใช้เครื่องมือด้านการวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วโลกมาให้ทุกคนได้ศึกษาและทบทวนกันอีกครั้งหนึ่ง แนวคิดที่เรากำลังจะพูดถึงอยู่ก็คือสูตรมหัศจรรย์หรือ Magic Formula (MF) นั่นเองครับ
รากฐานแนวคิดระบบการลงทุน Magic Formula
ภาพที่ 1 : หนังสือ The Little Book That Still Beats the Market เขียนโดย Joel Greenblatt
Magic Formula เป็นสูตรที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย Joel Greenblatt ผู้ก่อตั้งและบริหารกองทุน Gotham Capital ซึ่งมีแนวทางในการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) โดยมีแนวคิดเบื้องหลังการลงทุนคล้ายกับคำคมวาทะเด็ดของ Warren Buffet อภิมหาเศรษฐีและนักลงทุนเน้นคุณค่าชื่อดังที่เคยกล่าวไว้ว่า
“It’s far better to buy a wonderful company at a fair price than a fair company at a wonderful price”
“มันเป็นเรื่องที่ดีกว่ามากในการซื้อบริษัทที่ยอดเยี่ยมในราคาที่สมเหตุสมผล แทนที่จะซื้อบริษัทที่สมเหตุสมผลในราคาที่ยอดเยี่ยม”
ภาพที่ 2 : Joel Greenblatt ผู้จัดการกองทุน Hedge Fund ผู้คิดค้นกลยุทธ์การลงทุน Magic Formula
ซึ่ง Greenblatt นั้นได้เสนอวิธีการหา “บริษัทที่ยอดเยี่ยมในราคาที่สมเหตุสมผล” จากการใช้ปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 2 ตัวแปรในการคัดเลือกหุ้นที่ Under Value ออกมานั่นก็คือ อัตราผลตอบแทนของกิจการ
(Return on Capital : ROC) และผลตอบแทนของกำไร (Earning Yield : EY) นั่นเองครับ ซึ่งในตอนนี้เรามาทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งเลยดีกว่าครับว่า ปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 2 ตัวแปรนี้แท้จริงแล้วคืออะไร
- อัตราผลตอบแทนของกิจการ (Return On Capital : ROC)
ROC เป็นตัวแปรสำคัญที่บอกถึง “คุณภาพ” ซึ่งพิจารณาจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเทียบกับต้นทุนทั้งหมดที่ใช้ดำเนินกิจการ โดยเราสามารถเขียนออกมาเป็นสมการได้ดังนี้
ROC = TTM EBIT / Tangible Capital
โดยที่
- TTM EBIT (Trailing Twelve Months Earnings Before Interest & Tax) คือ ผลรวมของกำไร(ขาดทุน) ก่อนต้นทุนทางการเงินและภาษี 12 เดือนย้อนหลัง
- Tangible Capital คือ ทุนที่สามารถมองเห็นได้เช่น เงินสด เงินฝาก ลูกหนี้ สินทรัพย์คงเหลือ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยความยุ่งยากในการคำนวณ Greenblatt จึงได้ทำการปรับปรุงสมการใหม่ดังนี้
ROC (Revised) = TTM EBIT / (Total Asset – Current Liability)
โดยที่
- Total Asset คือ สินทรัพย์ทั้งหมด
- Current Liability คือ หนี้สินหมุนเวียน
- ผลตอบแทนของกำไร (Earning Yield : EY)
EY เป็นตัวแปรสำคัญที่บอกถึง “ความคุ้มค่า” ซึ่งพิจารณาจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเทียบกับมูลค่าของบริษัท เขียนเป็นสมการได้ดังนี้
EY = TTM EBIT / Enterprise Value
Enterprise Value = Market Capitalization + Total Liability – Cash and Cash Equivalents
โดยที่
- Enterprise Value คือ มูลค่าของบริษัท
- Market Capitalization คือ มูลค่าตามราคาตลาด
- Total Liability คือ หนี้สินทั้งหมด
- Cash and Cash Equivalents คือ เงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด
หมายเหตุที่ 1 : เหตุผลในการเลือกใช้ค่า TTM EBIT แทน Net Profit ในการคำนวณ เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงศักยภาพในการบริหารกิจการของบริษัทได้ดีกว่า รวมถึงไม่มีเรื่องของต้นทุนทางการเงินและภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะให้ผลแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัทหรืออุตสาหกรรม
Magic Formula ระบบการลงทุนที่เรียบง่ายแต่… ทรงพลัง!
หนึ่งในความลับที่ทำให้ MF เป็นสูตรที่มีความเสถียรและอยู่รอดในตลาดมาอย่างยาวนาน นั่นคือ เรื่องของความ “เรียบง่าย” ที่แฝงอยู่ในขั้นตอนของการลงทุน และสิ่งเหล่านี้เองที่เป็นขุมกำลังหลักหรือแก่นของระบบที่ทำให้ Magic Formula ได้รับการยอบรับทั่วโลก ซึ่งมีรายละเอียดขั้นตอนเพียง 4 ขั้นตอนหลักๆดังต่อไปนี้
- Non-Financial Industry
ขั้นตอนเริ่มต้นในการลงทุนของ MF เกิดจากการตัดอุตสาหกรรมการเงินออกไปก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวมีโครงสร้างทางการเงินที่แตกต่างจากกลุ่มอื่น ซึ่งหานำมารวมอาจทำให้การคำนวณมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้
- ROC & EY Ranking
ขั้นตอนต่อมาคือ การจัดเรียงหาอันดับของหุ้นในตลาดจากมากไปหาน้อยโดยใช้ค่า Return On Capital และ Earning Yield เพื่อค้นหาหุ้นที่มีศักยภาพในการทำกำไรของบริษัทที่สูงและมีราคาไม่แพงมากจนเกินไป
- Magic Formula Score
ในขั้นตอนนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยในการคัดเลือกหุ้นเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ นั่นคือการสร้าง Magic Formula Score โดยการนำเอาผลรวมของอันดับหุ้นจากการเรียงอันดับ โดยใช้ค่า ROC และ EY เข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้สะดวกต่อการนำไปใช้งาน (เช่นหุ้นที่มีค่า ROC สูงที่สุดในตลาดจะได้อันดับที่ 1)
- Rotation (Yearly)
ขั้นตอนสุดท้ายคือ ในแต่ละปีนั้นเราจะทำการเรียงลำดับคะแนน เพื่อทำการเลือกหุ้นจำนวน 30 ตัวที่มีคะแนน Magic Formula Score น้อยที่สุด (ดีที่สุด) เข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ และทำการหมุนลงทุนในขั้นตอนเดิมต่างๆทุกสิ้นปี
ดังนั้นหากจะสรุปขั้นตอนการลงทุนทั้งหมดให้สั้นและกระชับ เราอาจจะพูดได้ว่า Magic Formula คือ ระบบการลงทุนที่เลือกซื้อแต่หุ้นที่ “ดีและถูก” เข้ามาในพอร์ตโฟลิโอด้วยขั้นตอนที่เข้าใจง่ายสุดๆอย่างไม่ต้องสงสัย
เงื่อนไขการทดสอบ
สำหรับรายละเอียดและเงื่อนไขการทดสอบกลยุทธ์การลงทุน Magic Formula ในตลาดหุ้นไทยมีดังนี้
Condition | Details |
Backtesting Window | 01/01/2010 – 30/04/2020 |
Backtesting Restriction | เงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท
อัตราค่า Commission 0.15% (รวมซื้อขาย 0.3%) Long Only ทดสอบบนฐานข้อมูล SiamQuant Hybrid Database ที่รวมเงินปันผล |
Universe | All Stocks หุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ |
Entry | SQFirstDayOfYear() |
Exit | SQLastDayOfYear() |
Filters | กรองข้อมูลที่มีความผิดพลาดออกด้วย SQDataFilter(0) |
Position Size | ลงทุนเท่ากันทุกตัว (Equal Weight) โดยกำหนดขนาดการลงทุนครั้งละ 3% |
Position Score | เรียงลำดับจากคะแนน Magic Formula Score สูงสุด |
Order Management | ทำการซื้อขายราคาเปิด (Open) ของวันถัดไปของวันที่เกิดสัญญาณ) |
ตารางที่ 1 : ตารางแสดงเงื่อนไขสำหรับการทดสอบกลยุทธ์การลงทุน Magic Formula
ผลการทดสอบระบบการลงทุน Magic Formula กับตลาดหุ้นไทย (Update 2020)
การทดสอบกับตลาดหุ้นไทยนั้น ทำได้โดยการนำข้อมูลจากฐานข้อมูล SiamQuant Hybrid Database ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมเอาข้อมูลราคาหุ้น, งบการเงิน และกิจกรรมของบริษัทต่างๆในแต่ละวัน มาจัดเรียงและทำการ Time Stamp เพื่อให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการวิจัย Backtested ย้อนหลังอย่างถูกต้อง โดยได้ผลลัพธ์ดังนี้
ภาพที่ 2 : ภาพแสดงการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอระหว่างระบบการลงทุน Magic Formula (เส้นสีเขียว) และดัชนี SET Index (เส้นสีดำ)
Portfolio Metrics | Magic Formula | SET Index |
Net Profit | 387% | 78% |
CAGR | 17.13% | 5.93% |
MaxDD | -52.52% | -44.22% |
Longest DD (Month) | 29.14 | 50.29 |
CAR/MDD | 0.33 | 0.13 |
Trade Metrics | Magic Formula | SET Index |
No. of All Trade | 357 | – |
Avg. Bar Held | 233.17 | – |
% Win | 51.26% | – |
Avg. Profit/Loss % | 48.74% | – |
Max Consecutive Loss | 11 | – |
ตารางที่ 2 : ตารางแสดงค่าสถิติของระบบการลงทุน Magic Formula และดัชนี SET Index
จากภาพที่ 2 และตารางที่ 2 จะพบว่าระบบการลงทุน Magic Formula นั้นมีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยทบต้นต่อปีเท่ากับ 17.13% ซึ่งถือว่าสร้างผลตอบแทนที่ชนะตลาดอย่างมีนัยยะ เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนี SET Index ที่มีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยทบต้นอยู่ที่ 5.93% ต่อปี ในช่วงเวลาการทดสอบ
แต่ในด้านความเสี่ยงที่วัดโดยค่า MaxDrawdown นั้นระบบการลงทุน Magic Formula มีค่าอยู่ที่ -52.52% ในช่วงเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งสูงกว่า ดัชนี SET index ที่มีค่า MaxDrawdown อยู่ที่ -44.22% อยู่พอสมควร
จากผลลัพธ์การทดสอบนี้เราสามารถสรุปได้ว่าสูตรการคัดกรอง Magic Formula ของ Joel Greenblatt นั้นถือว่ามีความเสถียรยั่งยืนในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว เมื่อทำการทดสอบกับตลาดหลายๆรูปแบบ ทั้งกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้ว (Developed Market) และกลุ่มตลาดกำลังพัฒนา (Emerging Market) เช่นตลาดบ้านเราเป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจาก Magic Formula นั้นเป็นกลยุทธ์ประเภท Buy & Hold จึงทำให้การเคลื่อนไหวส่วนมากของพอร์ตโฟลิโอนั้นจะสอดคล้องไปกับตลาด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนักในช่วงต้นปี 2020 เมื่อตลาดมีการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจากวิกฤติ Covid-19
บทสรุปของ Magic Formula
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับระบบการลงทุนที่ใช้ข้อมูลพื้นฐานเพียงอย่างเดียวในการคัดเลือกหุ้น โดยในบทความนี้พวกเราอยากจะให้นักลงทุนได้ “เบิกเนตร” หรือเปิดหูเปิดตา ถึงพลังของการลงทุนอย่างเป็นระบบที่ไม่ได้เป็นแค่การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยเทคนิคเพียงอย่างเดียวอย่างที่หลายๆคนเข้าใจครับ
โดยพวกเราทีมงาน SiamQuant หวังว่าองค์ความรู้เหล่านี้จะเป็นการช่วยพัฒนาวงการการลงทุนไทยให้ก้าวหน้าขึ้นไปใกล้เคียงกับระดับโลกมากขึ้นครับ ซึ่งถ้าเพื่อนๆพี่น้องๆนักลงทุนคนไหนที่สนใจ การวิจัยกลยุทธ์การลงทุนเชิง Quantitative แบบนี้สามารถที่จะติดตามพวกเราโดยการ Follow Page Facebook เพื่อติดตามบทความที่จะนำความรู้และสิ่งที่น่าสนใจในโลกของการลงทุนมาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกันอย่างจุใจเลยครับ จนกว่าจะพบกันใหม่ ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการลงทุนครับ
Reference :
Magic Formula สูตรการลงทุนอันแสนมหัศจรรย์ของ Joel Greenblatt