- ทำไมปี 2023 จึงยังคงเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย? - December 25, 2023
- 5 ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยๆในการวิเคราะห์ผลการลงทุน - September 13, 2020
- พิสูจน์ความอันตรายของการเก็งกำไรระยะสั้นด้วยทฤษฎี Risk of Ruin - July 19, 2020
บทความนี้เราจะมาพูดกันถึงกฎการคัดกรองหุ้นปันผลยอดฮิต “Chowder Rule” ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในหมู่ของกลุ่มนักลงทุนอย่างเป็นระบบทั่วโลก โดยวันนี้เราจะนำกฎการคัดกรอง Chowder Rule มาทำการทดสอบประสิทธิภาพในตลาดหุ้นไทยกันครับ
หลายๆคนที่ได้ยินชื่อของ Chowder Rule นั้นคงนึกไปแล้วว่ามันเกี่ยวอะไรกับซุปครีมหอย?! ซึ่งแท้จริงแล้วมันไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกันเลย (ฮา) เพราะจริงๆแล้ว Chowder Rule นั้นคือกฎที่ใช้พิจารณาคัดเลือกหุ้นปันผลจากปัจจัยพื้นฐานที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตโฟลิโอในระยะยาวโดยแทบไม่ต้องคำนึงถึงสภาวะตลาด ฟังดูน่าสนใจใช่มั้ยครับ?
แนวคิดที่เป็นรากฐานของ Chowder Rule
หลายๆคนที่ติดตาม SiamQuant มาหรือเข้าร่วมงานสัมนาให้ความรู้ของเราบ่อยๆจะสังเกตได้ว่า แนวคิดหรือกลยุทธ์การลงทุนที่เรานำมาทดสอบวิจัยให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆนักลงทุนได้ดูกันนั้นต้องมาจากแนวคิดที่สมเหตุสมผลในเชิงเศรษฐศาสตร์หรือมีการอ้างอิงจากงานวิจัยอื่นๆเสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่ง Chowder Rule ที่จริงๆแล้วมีที่มาจากกระดานสนทนาใน Internet ก็ตาม
โดยนาย Chowder (ซึ่งเป็นชื่อที่เค้าใช้ในกระดานสนทนาบนเวปไซต์ Seeking Alpha) ได้กล่าวไว้ว่าเค้าได้นำหลักแนวคิดการลงทุนนี้มาจากหนังสือ “The Single Best Investment” ซึ่งถูกเขียนโดย Lowell Miller
ภาพที่ 1 : หนังสือ Single Best Investment เขียนโดย Lowell Miller ประธานบริษัทจัดการการลงทุน Miller/Howard Investments ที่เป็นรากฐานความคิดของ Chowder Rule
ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียน Lowell Miller ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของปัจจัยการเติบโตของเงินปันผล (Dividend Growth) ว่าเป็นกุญแจสำคัญในยุทธศาสตร์ของการลงทุนระยะยาว ด้วยเหตุผลที่ว่าการเติบโตของเงินปันผลนั้นคือ ผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจที่ดีสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยแรงขับเคลื่อนของปัจจัยพื้นฐานของกิจการนี้จะเป็นกลไกทำให้หุ้นมีมูลค่าที่สูงขึ้นโดยอยู่เหนือความผันผวนของตลาดหุ้น
“จำไว้ว่า คุณไม่ได้รับแค่เงินปันผลที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี แต่คุณยังได้ผลตอบแทนจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสินทรัพย์ที่สร้างรายได้นั้นจะมีมูลค่าสูงขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน”
ยกตัวอย่างเช่น หุ้นที่เราถืออยู่นั้นมีการเติบโตของเงินปันผลจากปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 จาก 5 % เป็น 10% ด้วย Dividend Yield ที่สูงขึ้น ย่อมมีความต้องการของนักลงทุนเข้ามาซื้อผลักดันให้ราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งการได้ประโยชน์แบบ “สองเด้ง” แบบนี้นี่เองที่เป็นแก่นหลักของ Chowder Rule โดยนาย Chowder นั้นมีเป้าหมายในการสร้างพอร์ตโฟลิโอการลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนระยะยาวในระดับที่เขาพอใจ โดยไม่ได้ต้องการที่จะต้องมาคอยคาดเดาทิศทางตลาดแต่อย่างใด
การคัดกรองหุ้นปันผลด้วย Chowder Rule
หลังจากที่เราพอเข้าใจที่มาของแนวคิด Chowder Rule คร่าวๆแล้ว ต่อไปเรามาลองดูรายละเอียดของการคัดกรองกันดูบ้าง โดยหลักๆแล้ว Chowder Rule นั้นจะใช้การคำนวนง่ายๆดังนี้ :
Current Dividend Yield (%) + Dividend Growth Rate (%) = Total Return (%)
โดย
Current Dividend Yield = (Adjusted Dividend Per Share / Price)*100
หมายเหตุที่ 1 : ข้อมูลเงินปันผลต่อหุ้นนั้นต้องถูกทำการ Adjusted ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้น (Listed Shares) เพื่อที่จะคำนวนค่า Dividend Yield ได้อย่างถูกต้อง
และ
Dividend Growth Rate = CAGR of Dividend for Last X Years
หมายเหตุที่ 2 : ผู้ใช้สูตร Chowder Rule นั้นมักเลือกใช้ค่าเฉลี่ยของการเติบโตของเงินปันผลที่ 3,5 และ 10 ปี แล้วแต่ความเหมาะสมของข้อมูลย้อนหลังที่มี
ซึ่งสูตรนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้นักลงทุนสามารถคัดเลือกหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการปันผลแบบ “สองเด้ง” ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่นักลงทุนต้องชั่งใจเลือกระหว่างหุ้นที่มี Dividend Yield สูงแต่มีอัตราการเติบโตของเงินปันผล (Dividend Growth) ที่ต่ำ หรือในกรณีกลับกัน เนื่องจากบริษัทที่จ่ายปันผลสูงๆนั้นมักจะเป็นธุรกิจที่อิ่มตัวแล้ว (Mature) และไม่สามารถคงระดับการเติบโตที่สูงได้ ซึ่งทำให้ค่า Dividend Growth นั้นไม่มีความเสถียรมั่นคง
ด้วยปัญหานี้ทำให้ Chowder นั้นต้องทำให้กฎในการตัดสินใจของเขานั้นมีความยืดหยุ่นมากขึ้นกับหุ้นที่มีพฤติกรรมแบบนี้ โดยเขาได้ทำการเพิ่มเติมกฎเกณฑ์เข้าไปดังนี้ :
- ถ้าหุ้นนั้นมี Dividend Yield ที่ 3% หรือมากกว่า Total Return นั้นต้องสูงกว่าหรือเท่ากับ 12%
- ถ้าหุ้นนั้นมี Dividend Yield ที่น้อยกว่า 3% Total Return นั้นต้องสูงกว่า 15%
- ถ้าหุ้นตัวนั้นอยู่ในกลุ่มสาธารณูประโภค (Utility) Total Return นั้นต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 8%
จtเห็นได้ว่าในกฎเกณฑ์เหล่านี้จะมีตัวเลขที่ถูกกำหนดขึ้นมาหรือที่เรียกว่า Arbitery Parameter โดยที่มาของตัวเลขเหล่านี้มาจากการที่ Chowder นั้นได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนระยะยาวของเขาเองไว้ที่ 8% CAGR (ซึ่งเขาแนะนำว่าสามารถปรับแต่งตัวเลขนี้ได้ตามเป้าหมายการลงทุนของคนที่นำไปใช้) โดยค่า Total Return ที่ 12% นั้นมาจากการตั้ง Margin of Safety ไว้ที่ 50% ของ 8% ซึ่งเป็นเป้าหมายการลงทุนของเขานั่นเอง
กลับกันในกรณีที่หุ้นนั้นมี Dividend Yield ที่ต่ำ (น้อยกว่า 3%) Total Return ที่เขาต้องได้รับนั้นจะสูงขึ้นเป็น 15% โดยมาจากการตั้ง Margin of Safety ที่เพิ่มขึ้นไปอีกที่ 87.5% ของ 8% โดยเหตุผลที่ต้องเพิ่ม Margin of Safety นั้นก็เพราะว่าหุ้นที่ Dividend Yield ต่ำนั้นต้องพึ่งการเติบโตของเงินปันผล (Dividend Growth) ที่มากกว่าเดิม โดยการเติบโตของเงินปันผลนั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและมีความผันผวนมากกว่า Dividend Yield
ในกรณีหุ้นในกลุ่มสาธารณูปโภค (Utility) นั้น Chowder จะตั้ง Total Return ไว้ที่ 8% และไม่ได้มี Margin of Safety แต่อย่างใด เนื่องจากในตลาด S&P 500 หุ้นเหล่านี้มักจะเป็นหุ้นที่มีรายได้และการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ เพราะอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีรายได้คงที่และการแข่งขันที่ต่ำหรือเรียกง่ายๆว่าเป็นธุรกิจ “เสือนอนกิน” นั่นเอง
การทดสอบ Chowder Rule กับตลาดหุ้นไทย
ภายหลังจากที่เราได้รู้แนวคิดการลงทุนด้วย Chowder Rule กันแล้ว ในส่วนนี้เราจะมาทำการทดสอบกับตลาดหุ้นไทยกันบ้าง โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขสำหรับการทดสอบดังนี้
Condition | Details |
Backtesting Window |
|
Backtesting Restriction |
|
Universe |
|
Entry |
|
Exit |
|
Filters |
|
Position Size |
|
Position Score |
|
Order Management |
|
ตารางที่ 1 : ตารางแสดงเงื่อนไขสำหรับการทดสอบ Chowder Rule
หมายเหตุที่ 3 : เราได้ทำการตัดกฎในข้อที่ 3 ของ Chowder Rule ออกไปเนื่องจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นไม่ได้มีการแบ่งกลุ่ม Utility แยกย่อยออกมาอย่างชัดเจน (โดยปัจจุบันไปรวมกับกลุ่มพลังงาน) บวกกับจำนวนบริษัทที่เข้าข่าย Utility ตามที่ Chowder ได้อธิบายไว้นั้นมีจำนวนน้อยเพียงไม่กี่บริษัทในตลาดหุ้นไทย
หมายเหตุที่ 4 : การทดสอบนี้จะมีการรวมผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการนำเงินปันผลที่ได้รับกลับเข้าไปลงทุนต่อ (Dividend Reinvest) เพื่อเป็นการรับรู้ถึงผลตอบแทนจากเงินปันผลซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ Chowder Rule โดยเราได้ตั้งสมมติฐานว่านักลงทุนจะได้รับเงินปันผลภายหลังวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XD ไปแล้ว 50 วัน โดยเงินปันผลดังกล่าวจะถูกหักภาษี 10% ในทุกกรณี
โดยในการทดสอบนี้เราจะทำการแบ่งระบบการลงทุนออกเป็น 3 ระบบ โดยระบบแรก ‘Chowder Rule’ ซึ่งก็คือ การทดสอบกฎการคัดกรอง Chowder Rule โดยใช้การคำนวนอัตราการเติบโตของเงินปันผลด้วย CAGR 3 ปี และระบบที่สอง TR Score คือการทดสอบที่ทุกอย่างเหมือนเดิมแต่ตัดกฎการคัดกรอง Chowder Rule ออก เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและผลกระทบของการคัดกรอง และระบบ DivYield Score ที่จะลงทุนในหุ้นที่มีค่า Dividend Yield สูงสุด
ผลลัพธ์ของการทดสอบ Chowder Rule
ภาพที่ 2 : ภาพแสดงการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอระหว่างระบบการลงทุนที่ใช้กฎ Chowder Rule ในการคัดกรอง (เส้นสีน้ำเงิน) ระบบ TR Score (เส้นสีเขียว) ระบบ DivYield Score (เส้นสีแดง) และดัชนี SET TRI Index (เส้นสีดำ)
Portfolio Metrics | Chowder Rule | TR Score | DivYield Score | SET TRI |
Net Profit (%) | 492% | 313% | 324% | 372% |
CAGR | 20.17% | 15.78% | 16.10% | 17.44% |
MaxDD | -25.81% | -27.31% | -19.23% | -24.41% |
Longest DD (Month) | 22.33 | 21.81 | 25.52 | 17 |
CAR/MDD | 0.78 | 0.57 | 0.84 | 0.71 |
Trade Metrics | Chowder Rule | TR Score | DivYield Score | SET TRI |
No. of All Trade | 190 | 190 | 185 | – |
Avg. Bar Held | 250.44 | 262 | 265.12 | – |
% Win | 60% | 54.21% | 57.84% | – |
Avg. Profit/Loss % | 20.56% | 19.34% | 14.95% | – |
Max Consecutive Loss | 7 | 8 | 7 | – |
ตารางที่ 2 : ตารางแสดงค่าสถิติของระบบการลงทุนที่ใช้กฎ Chowder Rule ในการคัดกรอง (เส้นสีเขียว) ระบบ TRScore (เส้นสีน้ำเงิน) และดัชนี SET TRI Index (เส้นสีดำ)
จากภาพที่ 2 และตารางที่ 2 จะพบว่า Chowder Rule นั้นมีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยทบต้นต่อปีเท่ากับ 20.17% ซึ่งสูงกว่าระบบ TR Score ที่ไม่ได้ใช้ Chowder Rule ที่ 15.78% และระบบ DivYield Score ที่ 16.10% ในขณะที่ดัชนี SET TRI Index นั้นมีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 17.44% ต่อปี
และในด้านความเสี่ยงวัดโดยค่า MaxDrawdown ของทั้ง Chowder Rule และ TR Score นั้นมีค่าอยู่ใกล้เคียงกับ SET TRI index ที่ -24.41% โดยระบบ DivYield Score นั้นมีค่า MaxDD ต่ำที่สุดที่ -19.23%
สิ่งน่าสนใจที่พบจากการทดสอบนี้คือ กฎการคัดกรองหุ้นปันผล Chowder Rule นั้นมีส่วนช่วยให้ผลตอบแทนของระบบการลงทุนนั้นสูงขึ้นอย่างมีนัยยะทั้งจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในแต่ละปีตลอดช่วงการทดสอบทั้ง 3 ระบบนั้นถูกแสดงอยู่ในตารางที่ 3
Year | Yr Dividend
Chowder Rule |
Yr Dividend
TR Score |
Yr Dividend
DivYield Score |
2009 | 578,250 | 283,316 | 372,212 |
2010 | 847,105 | 228,171 | 1,028,822 |
2011 | 978,554 | 403,860 | 1,150,597 |
2012 | 998,931 | 317,113 | 993,085 |
2013 | 1,400,257 | 371,162 | 1,930,197 |
2014 | 1,444,221 | 263,047 | 1,568,842 |
2015 | 1,687,420 | 604,026 | 2,382,700 |
2016 | 1,678,898 | 714,963 | 1,300,450 |
2017 | 1,531,332 | 1,138,183 | 1,438,515 |
2018 | 1,091,206 | 617,634 | 1,524,118 |
Total | 12,236,179 | 4,941,473 | 13,689,541 |
ตารางที่ 3 : ตารางแสดงเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในแต่ละปีของระบบที่ใช้กฎการคัดกรองหุ้นปันผล Chowder Rule เปรียบเทียบกับระบบ TR Score และ DivYield Score ซึ่งไม่ได้ใช้ Chowder Rule
สรุปว่า Chowder Rule ดีจริงหรือไม่ ?
จากผลการวิจัยทดสอบย้อนหลัง เราได้ค้นพบว่า Chowder Rule นั้นมีส่วนช่วยในนักลงทุนได้รับทั้งผลตอบแทนและเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดจากหนังสือ The Single Best Investment ที่อาศัยการได้ประโยชน์ “สองเด้ง” จากทั้งราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลที่ได้รับ โดยเห็นได้ชัดว่าถึงแม้กลยุทธ์ DivYield Score นั้นจะได้รับเงินปันผลที่สูงกว่า Chowder Rule แต่ผลตอบแทนโดยรวมกลับต่ำกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยถึงแม้ตัวกลยุทธ์เองนั้นจะคงประสิทธิภาพในระดับที่สูง แต่ยังต้องผ่านขั้นตอนทดสอบความเสถียรของตัวแปรเพิ่มเติมก่อนนำไปใช้ลงทุนจริง อย่างไรก็ตามถือว่า Chowder Rule นั้นสามารถผ่านเข้ารอบคัดเลือกของกระบวนการ SiamQuant AlphaSTEPs (อ่านเกี่ยวกับกระบวนการวิจัยได้ที่นี่) ได้อย่างน่าจับตามองเลยทีเดียวครับ
ซึ่งเพื่อนๆพี่ๆน้องๆนักลงทุนสามารถติดตาม Blog การวิจัยกลยุทธ์การลงทุนเชิง Quantitative จากทั่วโลกแบบนี้ด้วยการ Subscribe E-mail ข่าวสารใน Knowlegde Hub ใน Website ของเราครับ จนกว่าจะพบกันใหม่ ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการลงทุนครับ
References :
https://www.suredividend.com/the-chowder-rule-explained/
https://www.vetr.com/research/OTCBB:CAGR/posts/2996039141-The-Chowder-Rule