บทความแปลและสรุป

Ray Dalio “All Weather Story” : จุดกำเนิดของกลยุทธ์การลงทุนระดับโลก

Koedkao Peeratiyuth

เชื่อนักลงทุนหลายๆคนคงจะเคยได้ยินเรื่องราวของพอร์ทโฟลิโอกลยุทธ์ All Weather ที่บริหารโดย Bridgewater Associate บริษัทของ Ray Dalio กันมาไม่มากก็น้อย ในวันนี้เราจะมานำเสนองานแปลเอกสารของทางกองทุน Bridgewater เองโดยตรง “All Weather Story” เรื่องราวที่ถ่ายทอดกระบวนการตกผลึกแนวคิดและจุดกำเนิดของกลยุทธ์การจัดการสินทรัพย์เชิง Quantitative ที่ฉีกกฏเกณฑ์แนวคิดแบบเก่าและกลายมาเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมไปตลอดกาล

All Weather Story : จุดกำเนิดของกลยุทธ์การลงทุนระดับโลก

ในคืนวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 1971 ประธานาธิบดี Richard Nixon ได้ปรากฏตัวบนหน้าจอโทรทัศน์และทำการประกาศยกเลิกการแลกเงิน Dollar เป็นทองคำเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังจาก 27 ปีของเสถียรภาพทางการเงินโลกตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1944 ในวันนี้สหรัฐอเมริกาได้ยกเลิก “Bretton Woods System” ระบบการเงินระหว่างประเทศที่ตรึงราคาแลกเปลี่ยนของทองคำไว้ที่ 35$ ต่อออนซ์

ขณะนั้นเอง Ray Dalio บัณทิตจบใหม่ที่ทำงานเป็นเสมียนอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ New York Stock Exchange ได้พยายามวิเคราะห์ถึงผลกระทบของเหตุการณ์นี้ โดยเขาคิดว่าถ้ามูลค่าและความเชื่อมันของเงินกระดาษ (Paper Money) ขึ้นอยู่กับทองคำ ซึ่งตั้งแต่วันพรุ่งนี้เราจะไม่สามารถแลกเงินดอลลาร์เป็นทองคำได้อีกต่อไปเพราะฉะนั้นตลาดหุ้นจะต้องร่วงลงอย่างแน่นอน แต่ผลลัพธ์ในวันรุ่งขึ้นกลับออกมาตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงโดยดัชนี Dow Jones กลับพุ่งขึ้นสูงถึง 4% พร้อมๆกับราคาทองคำในเหตุการณ์ที่เรียกกันต่อมาว่า “Nixon Rally”

ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Ray Dalio นั้นได้เปลี่ยนมุมมองความคิดของเขาในการวิเคราะห์ตลาด โดยได้ตระหนักว่าเขาไม่สามารถไว้ใจในประสบการณ์ส่วนตัวของเขาสำหรับการวิเคราะห์ได้เลย ซึ่งแม้แต่ประสบการณ์ตลอดช่วงชีวิตของคนๆนึงก็ยังถือว่าเป็นมุมมองที่สั้นเกินไป ดังนั้น Ray จึงได้เริ่มต้นศึกษาวิเคราะห์หาทั้งปัจจัยและเหตุผลของเหตุการณ์นี้

และเขาก็ได้พบว่าเหตุการณ์การยกเลิกระบบ Bretton Woods นั้นเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้เพียงแค่ครั้งเดียว แต่ที่จริงแล้วมันกลับเป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ “ไม่บ่อย” มากกว่าที่จะไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นซ้ำ โดยถ้ามองในภาพใหญจะเห็นได้ว่าการลดลงของมูลค่าเงินตรานั้นได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้งในประวัติศาสตร์ของหลายๆประเทศโดยกรณีทั้งหมดนั้นเป็นเพียง “ผลลัพธ์ของปัจจัยขับเคลื่อนเดียวกันแต่อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ต่างกันออกไป”

โดยหลังจากเหตุการณ์นี้ Ray Dalio นั้นได้ทุ่มเทและทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดนี้จนพัฒนามาเป็น “Economic Machine” (โดยสามารถอ่านบทแปลได้ที่ link นี้) ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหน้าประวัติศาสตร์

Ray Dalio ได้กล่าวไว้ว่า “บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ทำให้ต่อมาผมได้สร้างระบบการทำงานที่จะต้องรับมือกับเรื่องน่าประหลาดใจได้ตลอดเวลา รวมถึงผมก็ได้เรียนรู้ที่จะไม่เชื่อในประสบการณ์ของตนเองโดยผมต้องมองออกไปให้ไกลกว่านั้นเพื่อที่จะได้เห็นว่ากลไกต่างๆของเครื่องจักรนั้นทำงานอย่างไรบ้าง”

Ray ได้ทำการแยกส่วนประกอบของเศรษฐกิจและตลาดออกเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อทำการศึกษาความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนตลอดช่วงระยะเวลาต่างๆซึ่งแนวคิดนี้คือแก่นของกลยุทธ์ All Weather โดยสามารถอธิบายได้ว่าการเคลื่อนที่ของตลาดนั้น จะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสถานะเมื่อเปรียบเทียบกับสถานะก่อนหน้า โดยเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเช่นในกรณี “Nixon Rally” นั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงที่มีขนาดใหญ่มากนั่นเอง

เมื่อประเทศอยู่ในจุดที่มีภาระหนี้ที่มากเกินไปและไม่สามารถที่จะกู้ยืมเงินเพิ่มเติมได้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องทำการพิมพ์เงินเพื่อลดสภาวะบีบรัดนี้ โดยการกระทำเช่นนี้จะทำให้มูลค่าของเงินดอลลาร์ลดลงและยังส่งผลให้สินทรัพย์ที่ซื้อขายด้วยดอลลาร์เช่น ทองคำและหุ้นนั้นมีีมูลค่าที่สูงขึ้น

จุดกำเนิดหลักการของพอร์ตโฟลิโอกลยุทธ์ All Weather นั้นมาจากคำถามที่ว่า “การลงทุนในลักษณะไหนที่นักลงทุนสามารถถือครองสินทรัพย์ได้อย่างไม่มีความกังวล โดยที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในทุกๆสภาวะแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การลดค่าของเงินหรือเหตุไม่คาดฝันอื่นๆ ?”

การค้นพบและเรียนรู้

Ray Dalio ก่อตั้ง Bridgewater ในปี 1975 โดยธุรกิจในช่วงแรกนั้นคือการให้คำปรึกษากับบริษัทในด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งบริษัท McDonalds ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของเขา ณ เวลานั้น McDonalds กำลังจะทำการผลิตสินค้าใหม่ “McNuggets” โดยบริษัทมีความต้องการที่จะ Hedging เพื่อควบคุมต้นทุนของวัตถุดิบหลักซึ่งก็คือเนื้อไก่ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีตลาด Future สำหรับเนื้อไก่

อย่างไรก็ดีบริษัทผู้ผลิตเนื้อไก่ที่ใหญ่ที่สุดขณะนั้นก็เป็นลูกค้าของ Bridgewater เช่นกัน ซึ่งจากการพูดคุยปรึกษากันพบว่าบริษัทเองไม่ต้องการที่จะขายเนื้อไก่ให้ McDonalds ในราคาคงที่ (fixed price) เพราะมีความกังวลว่าเมื่อต้นทุนของการเลี้ยงไก่นั้นสูงขึ้นจะทำให้บริษัทต้องรับกับผลขาดทุนเพราะไม่สามารถปรับราคาเนื้อไก่ขึ้นได้

หลังจากการคิดวิเคราะห์ปัญหานี้ Ray ได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหากับบริษัทผู้ผลิตเนื้อไก่โดยทำการแยกส่วนประกอบของต้นทุนการผลิตเนื้อไก่ออกเป็น 3 ส่วนคือ ราคาเนื้อไก่, ราคาข้าวโพด และราคาถั่วเหลือง ซึ่งส่วนของราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองนั้นเป็นส่วนที่ผู้ผลิตเนื้อไก่มีความกังวลเนื่องจากมีความผันผวนสูง

Ray ได้เสนอแนะว่าให้ทำการสร้างอนุพันธ์ขึ้นมาโดยเป็นส่วนผสมระหว่างสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของข้าวโพดและถั่วเหลืองในอัตราส่วนที่จะสามารถทำการ Hedging ต้นทุนของผู้ผลิตเนื้อไก่ได้และในที่สุดทำให้บริษัทสามารถที่จะทำสัญญาซื้อขายขายกับ McDonalds ในราคาคงที่ได้ในที่สุด (ทำให้เรามี McNuggets กินกันทุกวันนี้)

ข้อคิดที่ Ray ได้จากงานนี้คือแนวคิดในการแยกโครงสร้างของรายได้หรือค่าใช้จ่ายออกมาเป็นส่วนประกอบย่อยๆเพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้นโดยแบ่งขั้นตอนการแยกตรวจสอบปัจจัยขับเคลื่อนในแต่ละส่วน ซึ่งแนวคิดในการแก้ปัญหานี้ได้กลายมาเป็นรากฐานของการสร้างกลยุทธ์ All Weather ซึ่งก็คือแนวคิดที่จะสร้างพอร์ตโฟลิโอที่แยกออกเป็นหลายๆส่วนย่อยที่ถือสินทรัพย์ที่ต่างชนิดกัน

ส่วนประกอบของพอร์ตโฟลิโอ

ในระยะเวลาต่อมา Ray และ Bob (CIO ของ Bridgewater) มีความคิดที่จะเข้าไปในธุรกิจบริหารหนี้สิน (Liability Management) ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ยังมีความต้องการอยู่มาก โดยสิ่งที่ทีมได้ทำคือการสร้าง “Risk Management Plan” ให้กับลูกค้าโดยมีหลักการดังนี้

  1. คำนวนหาจุดที่ทำให้ความเสี่ยงของบริษัทนั้นเป็นกลาง (Risk Neutral Position)
  2. ทำการออกแบบโปรแกรมในการ Hedge และคำนวน Exposure
  3. ทำการบริหารจัดการซื้อขายเพื่อสร้างกำไรจาก Neutral Position ที่ได้ทำการ Hedge ไว้แล้ว

ซึ่งบริษัท Bridgewater ได้ทำการบริหารความเสี่ยงหนี้สินของบริษัทเหล่านี้รวมกันกว่า 700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในเวลาต่อมากองทุนบำนาญของธนาคารโลก (World Bank Pension Fund) ได้เปิดบัญชีมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์กับ Bridgewater โดยที่ทีมได้ใช้เทคนิคเดียวกันนี้ในการสร้างพอร์ตโฟลิโอที่มีสัดส่วนของ Risk Neutral Position ด้วยพันธบัตรและการจัดการแบบ Active Manangement ที่สร้างผลตอบแทนที่เกินมาจาก Benchmark หรือที่เรียกอีกอย่างว่า Alpha

กุญแจสำคัญในการพิจารณาผลิตภัณฑ์ทางการเงินทุกประเภทคือการแยกผลตอบแทนออกเป็นองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ

  1. ดอกเบี้ยนโยบาย (Risk free)
  2. ผลตอบแทนจากตลาด (Beta) ที่เกินมาจากดอกเบี้ยนโยบาย
  3. ผลตอบแทนจากความสามารถในการเลือกหุ้นหรือบริหารโดยผู้จัดการกองทุน (Alpha)

หรือเขียนเป็นสูตรได้ดังนี้

Return = Cash + Beta + Alpha

อย่างไรก็ดีคนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้มองผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบนี้และเป็นเหตุให้พลาดข้อมูลสาระสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจไปค่อนข้างมาก โดยดอกเบี้ยนโยบายนั้นจะถูกควบคุมโดยธนาคารกลางและสามารถปรับขึ้นลงได้ค่อนข้างมาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐนั้นเคยอยู่สูงสุดที่ 15% ในช่วงปี 1980 แต่ในปัจจุบันกลับลงมาอยู่ที่เกือบ 0%

ราคาหุ้นและพันธบัตรนั้นจะมีความสัมพันธ์ที่เฉพาะตัวกับดอกเบี้ยนโยบายโดยผลตอบแทนของพันธบัตรจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายเสมอ ตัวอย่างเช่นกรณีที่ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีอยู่ที่ 2% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยนโยบายที่เกือบ 0 % โดยทำให้ในปัจจุบันปัจจัยขับเคลื่อนหลักคือมูลค่าของเงินสดที่ลดลง (Price of cash) ที่ทำให้ราคาของสินทรัพย์นั้นสูงขึ้น

ลักษณะเฉพาะของค่า Beta และ Alpha นั้นจะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยค่า Beta นั้นสามารถหาได้ด้วยการซื้อกองทุนประเภท Passive Management ที่มีค่าใช้จ่ายบริหารจัดการที่ต่ำและจะให้ผลตอบแทนตามตลาด (Benchmark) ผลตอบแทนที่มาจากค่า beta นั้นในระยะยาวจะสูงกว่าการถือครองเงินสด

ในกรณีของค่า Alpha นั้นผลตอบแทนมาจากการใช้กลยุทธ์การซื้อขายที่มีความได้เปรียบ (edge) ซึ่งทำให้ผลตอบแทนนั้นสูงกว่าตลาด (Benchmark) โดยกองทุนประเภท Active Management จะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่สูงกว่าและมีการแบ่งผลกำไรด้วย (Profit Sharing) โดยถือว่า Alpha นั้นมีต้นทุนและระดับความเสี่ยงที่สูงกว่า Beta

กุญแจสำคัญของการวิเคราะห์คือให้มีการกำหนดแยกคิดสัดส่วนของค่า Beta ที่จะทำให้พอร์ตโฟลิโอนั้นมีผลตอบแทนที่คงที่สม่ำเสมอในระยะยาวและสัดส่วนของ Alpha ที่จะเข้ามาเพิ่มผลตอบแทนในยามที่สภาวะตลาดเหมาะสมกับกลยุทธ์ที่เลือกใช้

สินทรัพย์แต่ละชนิดสร้างความสมดุลของความเสี่ยง

ในเวลาต่อมา Bridgewater ได้เริ่มเข้ามารับงานบริหารกองทุนบำนาญของบริษัทเอกชนต่างๆรวมถึงผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชื่อดังของสหรัฐโดย Ray Dalio และทีมของเขาได้ทำการวิเคราะห์แยกองค์ประกอบพอร์ตโฟลิโอของกองทุนบำนาญออกเป็น 3 ส่วนหลักๆตามแนวคิด Cash + Beta + Alpha โดยพบว่าการลงทุนของนักลงทุนสถาบันส่วนมากในเวลานั้น (รวมถึงในปัจจุบัน) มีความเสี่ยงอยู่กับตลาดค่อนข้างมากเพราะลงทุนในหุ้นด้วยสัดส่วนเกือบ 60% และอีก 40% ที่เหลือนั้นจะไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ

โดยโจทย์ที่ Bridgewater ได้รับก็คือจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาแนวทางกลยุทธ์การบริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Allocation) ให้พอร์ตโฟลิโอสามารถที่จะมีความสเถียรได้โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคาดเดาสภาวะเศรษฐกิจ (ในกรณีนี้คือทิศทางของเงินเฟ้อ) ซึ่งทีมของ Ray ได้ให้คำแนะนำไว้กับลูกค้า 2 ข้อคือ

  1. สินทรัพย์แต่ละประเภทนั้นต่างก็มีความเหมาะสมต่อสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป (Environmental Bias) โดยพันธบัตรจะให้ผลตอบแทนที่ดีในยามที่เงินเฟ้อหดตัว ส่วนหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีในยามที่เศรษฐกิจเติบโต และเงินสดจะเป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุดในยามที่เกิดภาวะบีบรัดทางการเงิน (Money is Tight) ซึ่งทำให้สัดส่วนพอร์ตโฟลิโอแบบ 60/40 ข้างต้นนั้นมีความเสี่ยงอย่างมากถ้าการเติบโตของภาคเอกชนในระบบเศรษฐกิจนั้นไม่สูงตามคาด
  2. เราสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงต่อสภาวะตลาดของพอร์ตโฟลิโอได้โดยหาสินทรัพย์อีกประเภทนึงที่มีผลตอบแทนคาดหวังเป็นบวกในระยะยาว (มี Beta) และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในขนาดที่ใกล้เคียงกับเวลาที่มูลค่าของหุ้นที่ถืออยู่ลดลง (มี Inverse Correlation)

การมองสินทรัพย์ในรูปแบบหน่วยของความเสี่ยง (Unit of risk) ช่วยทำให้สามารถที่จะบริหารจัดการสินทรัพย์หลากหลายชนิดได้ราวกับเป็นสินทรัพย์ชนิดเดียวกัน และจะทำให้สามารถคำนวณจุดสมดุลของความเสี่ยงได้ ยกตัวอย่างเช่นการถือครองพันธบัตรระยะยาวหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของพันธบัตรระยะยาวสามารถช่วยทำให้พอร์ตโฟลิโอการลงทุนนั้นมีความสมดุลมากขึ้นในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นในเศรษฐกิจ โดยที่ยังสามารถสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้อยู่ในระดับที่พึงพอใจได้

ความสมดุลของความเสี่ยงในแต่ละสภาวะเศรษฐกิจ

ถึงแม้ว่าจะสามารถสร้างสมดุลต่อสภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจได้ด้วยส่วนผสมของหุ้นและพันธบัตรใน พอร์ตโฟลิโอแต่ Ray ก็พบว่ายังมีปัจจัยการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ (ที่เกิดขึ้นในช่วงยุค 70s) ซึ่งทำให้ราคาของหุ้นและพันธบัตรนั้นมีมูลค่าที่ลดลงพร้อมๆกัน ซึ่งถือเป็นอีกความท้าทายในการสร้างกลยุทธ์ All Weather โดยในช่วงทศวรรษที่ 70 การถือครองสินค้าโภคภัณฑ์นั้นให้ผลตอบแทนที่ดีมากเมื่อเปรียบเทียบกับทั้งหุ้นและพันธบัตร

Bridgewater ได้ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (ซึ่งในตอนนั้นถือว่ายังเป็นยุคแรกของ PC) เพื่อสร้างฐานข้อมูล, สร้าง Chart และสร้างระบบการตัดสินใจโดยมุ่งเน้นที่การค้นหาและพิสูจน์ “ปัจจัยเชื่อมโยงในระยะยาวของสินทรัพย์การเงินในตลาดทุนต่อข้อมูลปัจจัยทางเศรษฐกิจ” โดยสิ่งนี้ถือว่าเป็นเป้าหมายของ Ray มาตลอดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในสมัยที่ยังต้องคำนวณโดยการใช้เครื่องคิดเลข, กระดาษและดินสอ

การเข้ามาของโปรแกรม Microsoft Excel ในปี 1987 ทำให้ทีมงาน Bridgewater สามารถที่จะทำการทดลองเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนของสินทรัพย์ชนิดต่างๆและศึกษาผลกระทบที่มีต่อผลตอบแทนของพอร์ตโฟลิโอได้ในทันที โดยค้นพบว่าผลตอบแทนที่ดีที่สุดนั้นมาจากกลยุทธ์การบริหารจัดการสินทรัพย์  (Asset Allocation) ที่เน้นความสมดุลกับปัจจัยเงินเฟ้อที่ผันผวน โดยในช่วงทศวรรษที่ 70 นั้นเป็นยุคที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น (Inflationary) และทศวรรษที่ 80 นั้นเป็นยุคที่เงินเฟ้อมีการชลอตัว (Dis-inflationary) โดยทีมได้ค้นพบว่ากลยุทธ์นี้ยังสามารถที่จะให้ผลตอบแทนของพอร์ตโฟลิโอที่น่าพอใจแม้ในช่วงปี 1920 ที่เกิดวิกฤตการณ์เงินเฟ้อไปทั่วโลก

ต่อมา Ray Dalio ได้สร้าง Four Box Diagram ขึ้นมาเพื่อที่จะอธิบายสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่นักลงทุนจะต้องเผชิญ โดยกุญแจสำคัญคือการปรับให้หน่วยของความเสี่ยงนั้นมีค่าเท่ากันในทุกๆช่องเพื่อสร้างความสมดุลให้กับพอร์ตโฟลิโอ

ภาพที่ 1: Four Box Diagram

Four Box Diagram ถือว่าเป็นการตกผลึกขององค์ความรู้ต่างๆเข้ามาไว้ด้วยกันซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นหลักการ (Principle) ของกลยุทธ์ All weather โดยเราสามารถแบ่งแยกสภาวะเศรษฐกิจออกเป็น 4 แบบด้วยกัน ซึ่งแม้เราจะไม่สามารถที่จะคาดการณ์เหตุการณ์หรือวิกฤตการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้แต่ความเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจและราคาสินทรัพย์นั้นก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม โดยทีมวิจัยได้ทำการย้อนทดสอบพอร์ตโฟลิโอกับวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในช่วงทศวรรษที่ 70, เงินเฟ้อชะลอตัวในช่วงทศวรรษที่ 80 และความผิดหวังต่อการเติบโตของเศรษฐกิจหลังปี 2000 พบว่าแนวคิดนี้ก็ยังทำงานได้เป็นอย่างดี

Bridgewater นั้นยังเป็นผู้นำของการนำพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-Linked Bond) เข้ามารวมอยู่ในพอร์ตโฟลิโอการลงทุนของนักลงทุนสถาบันด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงทศวรรษที่ 90 พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อนั้นยังไม่อยู่ในสายตาของนักลงทุนสถาบันเลย โดย Ray ได้นำสินทรัพย์ชนิดนี้มาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอแทนที่เงินสดเพื่อให้สร้างผลตอบแทนในกรณีที่ราคาหุ้นและพันธบัตรปรับตัวลงในสภาวะเศรษฐกิจมีเงินเฟ้อสูงขึ้น

พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อนั้นได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างของการกระจายการลงทุน (Diversification) ที่สินทรัพย์ประเภทอื่นไม่สามารถทำได้เพราะว่านอกจากจะมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในยามที่เงินเฟ้อสูงขึ้นแล้วยังมีความสัมพันธ์ในเชิงลบ (Negatively Correlated) กับสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตด้วย (ดูจากภาพที่ 2)

25 Years in the making : All weather Strategy

จากการค้นคว้าวิจัยข้อมูลและการทำงานเป็นที่ปรึกษารวมกันกว่า 25 ปี ในที่สุดพอร์ตโฟลิโอที่ใช้กลยุทธ์ All Weather ก็ได้ถูกทำให้เป็นความจริงในปี 1996 โดยแรงผลักดันมาจากความต้องการส่วนตัวของ Ray เองที่ต้องการให้ทรัสต์ของครอบครัวเขานั้นลงทุนในกลยุทธ์การลงทุนระยะยาวที่มีความแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือ (Reliable) ในทุกสภาวะเศรษฐกิจหลังจากที่เขาไม่ได้อยู่ดูแลแล้ว

โดยกลยุทธ์นี้จะอธิบายได้ด้วย Four Box Diagram ที่วางประเภทของสินทรัพย์ต่างๆลงในกล่องโดยแต่ละช่องนั้นแสดงถึงสภาวะต่างๆของระบบเศรษฐกิจ

SiamQuant-All-Weather-Story-Ray-Dalio

ภาพที่ 2: Four Box Diagram with asset weight and type to be allocated

ผลตอบแทนรวมของพอร์ตโฟลิโอที่่มาจากสินทรัพย์ในแต่ละกล่องนั้นไม่ได้หักลบกันเป็นศูนย์เพราะถึงแม้จะมีการนำความเสี่ยงของสภาวะตลาดมาหักล้างกัน (ด้วยแนวคิดของ Risk Parity) แต่ในกรณีนี้ที่สินทรัพย์ทุกประเภทที่เลือกมานั้นต่างก็มีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นตามเวลาเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสด (มี Beta) ทำให้ในที่สุดแล้วผลตอบแทนของทั้งพอร์ตโฟลิโอนั้นจะเป็นบวกในระยะยาว

Ray Dalio ก็ยังเพิ่มเติมเทคนิคการใช้ Leverage เข้าไปด้วยซึ่งในช่วงแรกนั้นมีการต่อต้านจากนักลงทุนค่อนข้างมากเนื่องจากความเข้าใจที่ไม่มากพอเกี่ยวกับการใช้ Leverage โดยแท้จริงแล้วจุดประสงค์ของการใช้ Leverage นั้นคือการเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตโฟลิโอโดยยังคงระดับความเสี่ยงไว้เท่าเดิม

ยกตัวอย่างเช่น สมมติคุณลงทุนในหุ้น 10$ และพันธบัตร 10$  พอร์ตโฟลิโอของคุณก็จะมีผลตอบแทนที่สูงแต่ความเสี่ยงก็จะขึ้นอยู่กับตลาดหุ้นค่อนข้างมาก โดยในกรณีที่คุณลงทุนในหุ้นแค่ 5$ และพันธบัตร 15$ พอร์ตโฟลิโอของคุณก็จะมีความเสี่ยงที่อยู่ในจุดสมดุล แต่ก็มีผลตอบแทนที่น้อยลงเช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้การเพิ่ม Leverage เข้าไปในพอร์ตโฟลิโอที่ลงทุนในหุ้น 5$ และพันธบัตร 15$ นั้นจะทำให้ได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นโดยยังคงความสมดุลของความเสี่ยงไว้ที่จุดเดิมนั่นเอง   

กลยุทธ์ All Weather และผลกระทบต่อโลกการเงิน

จนถึงปัจจุบันพอร์ตโฟลิโอ All Weather ได้กลายมาเป็นดัชนีชี้วัดให้กับกองทุนบำนาญและองค์กรต่างๆในหลายประเทศทั่วโลก สถาบันการเงินต่างๆได้นำแนวคิดของ Bridgewater มาใช้โดยเริ่มทำการแยกทีมวิจัย Beta และ Alpha ออกมาอย่างชัดเจน

กลยุทธ์ All Weather นั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้นักลงทุนมีทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องคาดเดาทิศทางของตลาด ไม่ต้องคาดการณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจหรือเงินเฟ้อ และยังสามารถสร้างความมั่นใจได้ว่ายังไงพอร์ตโฟลิโอจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าถือเงินสดในทุกๆสภาวะเศรษฐกิจ

เห็นได้ว่า Bridgewater นั้นได้ประยุกต์ใช้แนวคิดนอกกรอบที่แตกต่างไปจากบริษัทอื่นอย่างสิ้นเชิงโดยเริ่มต้นด้วยการยอมรับว่าการทำนายอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ยาก ต่อด้วยการเลือกที่จะใช้แนวการคิิดวิเคราะห์เชิง Quantitative และสถิติรวมถึง Technology มาช่วยในการประมวลผลและสร้างข้อสรุป โดยมุ่งเน้นหากลยุทธ์ที่ให้ผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาวมากกว่ากำไรในระยะสั้น

Related Research : 

“เครื่องจักรเศรษฐกิจทำงานอย่างไร?” How The Economic Machine Works? โดย Ray Dalio แปลโดย SiamQuant Intern 2017

Reference :

https://www.bridgewater.com/resources/all-weather-story.pdf

Write A Comment