งานวิจัยและบทความทั้งหมด

52 Weeks Low จุดเริ่มต้นของการติดดอยแบบข้ามชาติ!

มด แมงเม่าคลับ
ติดตามผม

ทำไมนักลงทุนบางคนจึงมักขาดทุนและติดดอยแบบซ้ำๆซากๆไม่จบไม่สิ้นกับหุ้นหลายๆตัวเสียทีกันนะ?

สาเหตุหลักๆอย่างหนึ่งก็เพราะพฤติกรรมการลงทุนของพวกเขาเหล่านั้น ที่มักชอบ “ซื้อหุ้น” หรือ “ไม่ยอมขายหุ้น” ที่มีแนวโน้มเป็นขาลงใหญ่อย่างชัดเจน เพราะรู้สึกว่าราคาของพวกมันได้เตี้ยต่ำจนติดดินแล้วนั่นเอง

ในวันนี้ผมจึงอยากที่จะแสดงให้เห็นถึงอันตรายของการชอบซื้อหุ้นที่ดูราคาถูก โดยไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยทางเทคนิคหรือพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะกับสัญญาณหายนะที่เรียกว่า “52 Weeks Low” ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงการติดดอยแบบข้ามชาติกันได้นั่นเองครับ!

กับดักของหุ้นที่ดูราคาถูก ณ จุด 52 Weeks Low

นักลงทุนส่วนใหญ่นั้นมักเชื่อว่าพวกเขาต้องซื้อของถูกเพื่อไปขายแพงกว่า แน่นอนครับว่าฟังดูแล้วมันก็ถูกต้องเหมาะสมดีใช่ไหมครับ? อย่างไรก็ตาม ผมมักพบว่าพวกเขามักรู้เท่าไม่ถึงการหรือมักหลงลืมกันไปว่า …

อันที่จริงแล้วหุ้นที่มีราคาถูกนั้น ไม่ใช่หุ้นที่ราคาของมันเตี้ยต่ำติดดินจนเหมือนก้นกระทะ แต่เป็นการที่ราคาของมันต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมหรือ Fair Value ของพวกมันเป็นอย่างมากกันต่างหาก!!

ด้วยสาเหตุนี้เอง การที่พวกเขาพยายามที่จะซื้อหุ้นที่ดูแล้วราคาต่ำติดดินจนเหมือนกับอยู่ตรงก้นกระทะ โดยเฉพาะเมื่อพวกมันอยู่ไกล้ๆจุด 52 Weeks Low นั้น (จุดต่ำสุดภายใน 1ปีที่ผ่านมา) แม้ว่ามันจะดูเหมือนหุ้นราคาถูก (ในเชิงจิตวิทยา) แต่ในความเป็นจริงแล้ว หุ้นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มักเป็นหุ้นที่มีคุณลักษณะที่ย่ำแย่ทั้งในแง่ของปัจจัยทางเทคนิคและพื้นฐาน ซึ่งเสี่ยงต่อการขาดทุนอย่างหนักและยาวนานแทบทั้งสิ้น!

โดยที่เนื้อหาต่อไปในบทความนี้นั้น ผมจะค่อยๆนำเอาหลักฐานต่างๆทางสถิติที่จะชี้ให้คุณเห็นว่าทำไม คุณจึงควรที่จะหลีกเลี่ยง, ลดละ หรือเลิกเล่นหุ้นที่อยู่ไกล้จุด 52 Weeks Low เหล่านี้กันเสียทีครับ

52 Weeks Low จุดเริ่มต้นของความหายนะ!

ทำไมจุด 52 Weeks Low จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความหายนะกับพอร์ตโฟลิโอและสุขภาพจิตของคุณอย่างนั้นหรือครับ?

1. คำตอบอย่างแรกเลยก็เพราะว่า พวกมันคือจุดเริ่มต้นของแนวโน้มขาลงครั้งใหญ่ของราคาหุ้น และยังเป็นทางผ่านที่จะต้องเกิดขึ้นกับหุ้นทุกตัว ที่จะสร้างความหายนะให้กับคุณได้นั่นเองครับ!

โดยเมื่อคุณลองคิดให้ดีว่าหุ้นจะลงไปจากราคา 10 บาท ไปอยู่ที่ราคาเพียง 1 บาทจะเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น? คำตอบก็คือพวกมันจะต้องขยับลงไปที่ราคา 9, 8, 7, 6, 5 …. และต่ำลงไปเรื่อยจนถึง 1 บาทกันนั่นเอง ซึ่งเมื่อเราสังเกตไปยังกราฟราคาของหุ้นที่มีคุณลักษณะที่ย่ำแย่มากๆนั้น เราก็จะสังเกตได้อย่างชัดเจนเป็นปกติว่า พวกมันล้วนแล้วแต่เป็นหุ้นที่อยู่ในแนวโน้มขาลงขนาดใหญ่อย่างชัดเจน และไม่มีหุ้นตัวใดที่จะทรุดต่ำลงไปอย่างมากเรื่อยๆโดยไม่ผ่านจุด 52 Weeks Low ของมันได้เช่นเดียวกัน

ภาพที่ 1 : สัญญาณการซื้อขายหุ้น TN ในอดีต ที่เลียนแบบพฤติกรรมของชาวดอย ที่ชอบเข้าซื้อหุ้นเมื่อเกิด 52 Weeks Low (สีเขียว) และมักขายหุ้นทิ้งไปภายหลังราคาทะลุจุด 52 Weeks High (สีแดง) ซึ่งถือเป็นเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพในระยะยาวสักเท่าไหร่นัก เพราะเป็นกลไกที่ทำให้มักต้องขายหมูและติดดอยอยู่เรื่อยไป

2. สำหรับเหตุผลข้อที่สองที่คุณไม่ควรยุ่งกับหุ้นที่อยู่แถวๆแนวรับใหญ่นั้นก็คือ โดยปกติแล้วนั้นหุ้นจะไม่ซื้อขายอยู่ใกล้ๆจุด 52 Weeks Low กันสักเท่าไหร่นัก หากว่ากิจการของหุ้นตัวนั้นไม่ย่ำแย่จริงๆนั่นเอง!

โดยที่เมื่อเราได้ทำการเก็บสถิติของปัจจัยพื้นฐานหุ้น ณ จุด 52 Weeks Low ออกมานั้น เราก็จะพบกับข้อมูลที่ชัดเจนว่า พวกมันล้วนแล้วแต่เป็นหุ้นที่มีกิจการที่กำลังย่ำแย่ลง โดยจะสังเกตได้จากค่าเฉลี่ยของดัชนีชี้วัดในเชิงพื้นฐาน ที่เกิดขึ้นเมื่อราคาหุ้นอยู่ ณ จุด 52 Weeks Low ได้ดังตารางด้านล่างนี้

Median
Close 5.15
ATH Score 0.44
EPS 0.05
PE Ratio 9.02
PE Industry 12.81
Div Yield 1.39%
ROE 5.94%
NPM 3.55%
EPS QoQ -5.07%
EPS YoY -4.41%

ตารางที่ 1 : ตารางข้อมูลจากทั้งปัจจัยเชิงเทคนิคและพื้นฐาน เมื่อราคาหุ้นอยู่ ณ จุด 52 Weeks Low โดยที่ราคา Close และ EPS เป็นค่าที่ได้รับการ Adjusted อย่างถูกต้องเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งจากสถิติโดยเฉลี่ยจากค่า Median ที่แสดงออกมานั้น (ผมไม่ใช้ค่า Average หรือค่า Mean ในกรณีนี้ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมี Outlier ที่รุงแรงมาก จนทำให้ฉุดค่าเฉลี่ยของหุ้นส่วนใหญ่ให้ผิดเพี้ยนไป) เราจะเห็นได้ว่าถึงแม้หุ้นเหล่านี้อาจจะยังมีกำไรที่เป็นบวกราว 0.05 บาท/หุ้น และราคาจะดูต่ำมากๆราว 0.44 เท่า เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดหรือ All-Time-High ของมัน อีกทั้งยังมีค่า P/E ที่ค่อนข้างถูกจนต่ำกว่าค่า P/E ของอุตสาหกรรมเลยก็ตาม แต่โอกาสที่จะเกิดกับดักทางมูลค่าหรือ Value Trap ก็สูงๆมากๆด้วยเช่นกัน โดยจะสังเกตได้จากค่า Net Profit Margin (NPM) และ Return on Equity (ROE) ที่ค่อนข้างบางมากๆ และพวกมันยังมักมีอัตราการเติบโตของผลกำไรทั้งแบบ QoQ และ YoY ที่ติดลบอย่างชัดเจนอีกด้วยเช่นกัน

3. นอกจากนั้นแล้ว สถิติของความน่าจะเป็นและผลตอบแทนภายหลังการเกิด 52 Weeks Low นั้น ยังมีคุณลักษณะที่ย่ำแย่มากๆด้วยเช่นกัน

โดยเมื่อเราได้ทำการเก็บสถิติผลตอบแทนหลังจากเกิดสัญญาณ 52 Weeks Low ออกมา ทั้งในแง่ของ

  • Absoute Return หรือผลตอบแทนจากราคาของหุ้นตัวนั้นๆเอง
  • Excess Return หรือผลตอบแทนที่วัดจากหุ้นตัวนั้นๆเปรียบเทียบกับตลาดหรือดัชนี SET Index

ตามระยะเวลา 1, 3, 6, 12, 36 และ 60 เดือน เป็นจำนวน 2,439 สัญญาณ ตั้งแต่ปี 1997-2018 ที่ผ่านมานั้น เราก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนตามกราฟต่อไปนี้ว่า

ในแง่ของโอกาสและความน่าจะเป็น (Probability) ที่ราคาหุ้นจะสามารถกลับมายืนเหนือจุด 52 Weeks Low ที่มันได้หลุดทะลุลงไปนั้นเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า

ภาพที่ 2 : ความน่าจะเป็นของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นบวก และความน่าจะเป็นของผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดหรือดัชนี SET Index

  • โอกาสที่ราคาหุ้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวก (เส้นสีเขียว) และโอกาสที่หุ้นจะสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดนั้น (เส้นสีแดง) ต่ำกว่าการโยนเหรียญหรือ 50% ในทุกคาบเวลาหลังเกิดสัญญาณ 52 Weeks Low
  • นอกจากนั้นแล้ว ยิ่งเวลาทอดยาวออกไป หุ้นเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดหรือดัชนี SET Index น้อยลงเรื่อยๆ โดยจะสังเกตได้จากการที่ค่า Probability of Positive Excess Return (เส้นสีแดง) นั้นมีแนวโน้มที่จะค่อยๆลดต่ำลง จนในที่สุดเมื่อวัดจากระยะเวลา 5 ปีหลังจากเกิดสัญญาณ 52 Weeks Low ขึ้นนั้น หุ้นเหล่านี้มีโอกาสเหลือเพียงราวๆ 31% ที่จะสามารถให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดได้ (พูดง่ายๆว่าซื้อกองทุน Passive Fund ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าถือหุ้นเหล่านี้ถึง 69%)

และสำหรับในแง่ของค่าเฉลี่ยของผลตอบแทน (Median of Return) ที่คุณจะได้รับภายหลังจากการเกิดสัญญาณ 52 Weeks Low นั้นพบว่า

ภาพที่ 3 : ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนภายหลังการเกิดสัญญาณ 52 Weeks Low (โดยเราใช้ค่าเฉลี่ยแบบ Median สำหรับกรณีนี้เช่นกัน เพื่อตัด Outlier ของผลตอบแทนจากหุ้นบางตัวที่จะทำให้ภาพรวมของสถิติผิดเพี้ยนไป)

  • ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนทั้งแบบ Absolute (แท่งสีเขียว) และ Excess Return (แท่งสีแดง) ที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดสัญญาณ 52 Weeks Low จะมีค่าเฉลี่ยแบบ Median ที่ติดลบในทุกคาบเวลาเลยทีเดียว โดยที่พวกมันจะค่อยๆมีค่าที่ติดลบมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาทอดยาวออกไปเรื่อยๆเช่นกัน โดยที่ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนเมื่อเทียบกับตลาดแบบ Excess Return ภายหลังเกิดสัญญาณ 5 ปีนั้นน้อยกว่าตลาดถึงราว 28% เลยทีเดียว

เราจึงสามารถพูดได้ง่ายๆว่าในภาพรวมนั้น การเข้าซื้อหรือถือหุ้นที่อยู่ในขาลงใหญ่จนเกิดสัญญาณ 52 Weeks Low นั้นมีสถิติโดยรวมที่ย่ำแย่มาก โดยมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าการโยนเหรียญ มิหนำซ้ำแล้ว มันก็ยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาดเป็นอย่างมากอีกด้วย!

ซึ่งจากเหตุผลว่ามานี้เอง การเข้าซื้อหรือถือหุ้นก้นกระทะที่เกิดสัญญาณ 52 Weeks Low นั้น จึงถือเป็นแนวทางการลงทุนที่ย่ำแย่ และมีโอกาสเป็นอย่างมากที่จะทำให้คุณต้องติดดอยในระยะยาว (หากว่าคุณขาดทุนแล้วไม่ยอมขาย) ซึ่งหากว่าคุณยังคงมีนิสัยที่ชื่นชอบการลงทุนในหุ้นที่มีราคาเตี้ยต่ำติดดิน โดยไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยทางของแนวโน้มทางเทคนิค หรือปัจจัยเชิงพื้นฐานของมันสักเท่าไหร่แล้วล่ะก็ มันก็อาจเป็นเพียงแค่เงื่อนไขของเวลา ว่าคุณจะแจ็คพอตและพบกับความหายนะของพอร์ตโฟลิโอขึ้นมาเมื่อไหร่นั่นเองครับ

บทเรียนส่งท้ายจากสุดยอดหุ้น 52 Weeks Low

สุดท้ายก่อนจะจบบทความนี้ ผมก็จะขอนำเอาตัวอย่างกราฟราคาของหุ้นที่ไปแล้วไปลับไม่กลับมาให้ดูกันสักเล็กน้อย

โดยที่คุณจะสังเกตได้อย่างชัดเจนถึง Pattern ของพวกมันว่า จุดเริ่มต้นของหุ้นยอดแย่เหล่านี้นั้น ล้วนแล้วแต่ต้องเกิดการทะลุผ่านจุด 52 Weeks Low กันทั้งสิ้น และพวกมันก็จะเริ่มฟอร์มตัวเหมือนเป็นเป็นก้นกระทะขึ้นมา แต่ก็ยังไม่สามารถวิ่งไปแตะแนวต้านที่จุดสูงสุดภายใน 1 ปีได้ แล้วก็หลุดทะลุจุด 52 Weeks Low ลงไปเรื่อยๆๆๆ อีกหลายครั้งจนหมดสภาพดับอนาถไป ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลที่ว่าทำไมผมจึงเรียกจุด 52 Weeks Low ว่ามันจุดเริ่มต้นของการติดดอยแบบข้ามชาติกันนั่นเอง

ดังนั้นแล้วใครที่รู้ตัวว่ากำลังมีหุ้นแบบนี้อยู่ในพอร์ต ก็พยายามทำใจแข็งแล้วปล่อยมันไป หรืออย่าไปยุ่งกับหุ้นแบบนี้กันดีกว่านะครับ ผมเองก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ในการช่วยคุ้มครองพอร์ตโฟลิโอของพวกเราทุกคนไม่มากก็น้อย แล้วเจอกันบทความหน้า สวัสดีครับ 😀

Write A Comment